Error message

  • Deprecated function: preg_replace(): The /e modifier is deprecated, use preg_replace_callback instead in _filter_pubdlcnt() (line 50 of /home/amnestyo/domains/amnesty.or.th/public_html/old/sites/all/modules/contrib/pubdlcnt/pubdlcnt.module).
  • Deprecated function: preg_replace(): The /e modifier is deprecated, use preg_replace_callback instead in _filter_pubdlcnt() (line 50 of /home/amnestyo/domains/amnesty.or.th/public_html/old/sites/all/modules/contrib/pubdlcnt/pubdlcnt.module).

ประวัติความเป็นมา

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย

ประวัติความเป็นมาหลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 AI เป็นที่รู้จักในเมืองไทยอันเนื่องมาจากการรณรงค์ "ปลดปล่อยนักโทษทางความคิด" จากสถานการณ์ความขัดแย้งอย่างรุนแรงดังกล่าว ซึ่งการรณรงค์อย่างต่อเนื่องของ AI ทำให้มีจดหมายนับแสนฉบับจากคนทั่วโลก ส่งมาถึงรัฐบาลไทยและสำนักราชเลขาธิการเพื่อเรียกร้องให้ปล่อยตัวนักศึกษาและประชาชนที่ถูกจับกุมในเหตุการณ์ครั้งนั้น จากนั้นจึงเริ่มมีผู้สนับสนุนในประเทศไทย ที่ช่วยกันเขียนจดหมายรณรงค์เพื่อผู้ที่ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก และเริ่มดำเนินงานอย่างจริงจังในปี พ.ศ. 2536 และจดทะเบียนเป็นสมาคมเมื่อปี พ.ศ. 2546 โดยดำเนินกิจกรรมด้านการส่งเสริมให้ความรู้ความเข้าใจ และรณรงค์เพื่อปกป้องคุ้มครองสิทธิมนุษยชนอย่างกว้างขวาง โดยประสานความร่วมมือกับองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชน ตลอดจนองค์กรอิสระต่างๆ ปัจจุบันในประเทศไทยมีสมาชิกกว่า 1,000 คน

ช่วงที่ 1 เริ่มต้น (พ.ศ.2519) : หลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519

6 ตุลาคม 2519 ... เหตุการณ์ที่เจ้าหน้าที่รัฐและกลุ่มที่รัฐให้การสนับสนุน ได้เข้าไปปราบปราม จับกุม และสังหารนักศึกษาและประชาชนภายในบริเวณมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ซึ่งกำลังชุมนุมประท้วงเพื่อขับไล่ให้จอมพลถนอม กิตติขจรออกนอกประเทศ ทำให้มีผู้ที่บาดเจ็บ เสียชีวิตและสูญหายเป็นจำนวนมาก ขณะเดียวกันมีกลุ่มผู้ชมนุมถูกจับหลายพันคน หลังจากนั้นก็ถูกปล่อยตัว เหลือ 40 คน จนในที่สุดเหลือ 22 คน เหตุการณ์ในครั้งนั้น เป็นหนึ่งในเหตุการณ์ครั้งสำคัญของประวัติศาสตร์ไทยที่เกิดขึ้น และได้กลายเป็นประเด็นข่าวโด่งดังทั่วโลก ได้รับความสนใจจากสื่อในหลายๆ ประเทศ โดยนานาชาติเรียกกลุ่ม 22 คน ที่ถูกจับนี้ว่า ผู้ต้องหา 22 คน หรือบางกอกเทวนตี้ทู (Bangkok Twenty-two) และหนึ่งใน 22 คน ก็มีคุณสมชาย หอมลออ (ประธานคณะกรรมการบริหารประจำปี 2553 แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย)

ประวัติความเป็นมา

ในช่วงเวลานั้น แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เป็นองค์กรอาสาสมัครระหว่างประเทศที่ทำงานเพื่อสิทธิมนุษยชน ได้มีการรณรงค์เรื่อง "การปลดปล่อยนักโทษทางความคิด" เป็นประเด็นหลักในการรณรงค์ ประกอบกับเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 จึงทำให้แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล สนใจในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และได้แสดงท่าทีต่างๆ ในการที่จะคัดค้านการละเมิดสิทธิมนุษยชนของผู้มีอำนาจที่กระทำต่อประชาชน ด้วยอำนาจมิชอบ มีการส่งเจ้าหน้าที่จากสำนักเลขาธิการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล (International Secretariat) เข้ามาติดตามสถานการณ์ รวบรวมข้อมูล และสังเกตการณ์ในการพิจารคดีในศาลทหารของไทย ซึ่งโดยปกติแล้ว ในช่วงเวลานั้น การพิจารณคดีของไทยจะเป็นความลับโดยศาลทหาร แต่ในที่สุดก็ถูกถูกบีบจากนานาชาติ และแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ให้ผู้ต้องหา 22 คนที่ถูกจับด้วยข้อหาต่างๆ สามารถมีทนายความได้ เพื่อการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรมตามหลักปฏิญญาสากลว่าด้วยเรื่องสิทธิมนุษยชน ในท้ายที่สุด ผู้ต้องหา 22 คน ก็ได้รับการปล่อยตัว ซึ่งเป็นความสำเร็จส่วนหนึ่งในการรณรงค์ของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล

เหตุนี้เองทำให้แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเป็นที่รู้จักของสังคมไทย ทั้งในแวดวงสื่อมวลชน กลุ่มนักกิจกรรมทางสังคม รัฐบาล และประชาชน .. ณ ช่วงเวลานั้น "หลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519"

ช่วงที่ 2  รวมกลุ่ม  (พ.ศ.2520-2530) บนพื้นที่เล็กๆ ของสังคม

หลังจากนั้น แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล  ก็แทบจะไม่มีบทบาท และไม่มีการจัดตั้งองค์กรในสังคมไทยเลย ถึงแม้ทาง แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล จะมีการติดตาม  วิพากษ์วิจารณ์ และเรียกร้องให้มีดำเนินการที่ถูกต้องในเรื่องสิทธิมนุษยชนมาโดยตลอด แต่ก็ถูกมองข้าม และไม่ได้รับความสนใจจากประชาชน และถูกต่อต้านจากรัฐบาลในช่วงเวลานั้น ดังในปี พ.ศ. 2523 ทางสำนักเลขาธิการ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล (International Secretariat) ได้จัดกิจกรรม Concert "Human Right Now" ในเอเชีย มีประเทศญี่ปุ่น (โตเกียว), อีนเดีย (นิวเดลี) และไทย (กรุงเทพฯ) แต่สุดท้ายในไทยก็ล้มเลิกไป เนื่องด้วยสถานการณ์ทางการเมือง และรัฐบาลของไทยที่ต่อต้านองค์กรแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล และไม่สนับสนุนแนวคิดสิทธิมนุษยชนให้เกิดในสังคมไท

กระทั่งในปี พ.ศ.2525-2526 ได้มีการริเริ่มชักชวนกันของอดีตผู้นำนักศึกษา นักกิจกรรมทางสังคม นักกฎหมาย นักแปล ฯลฯ ที่รู้จักแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ให้เข้ามาประชุม เพื่อระดมความคิดเห็นเกี่ยวกับการจัดตั้งกลุ่ม มีการศึกษาอาณัติ (mandate) กิจกรรมต่างๆ รูปแบบการดำเนินงาน และคณะกรรมการ ของแอมเนสตี้ จนนำไปสู่การจัดตั้งกลุ่มแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย หรือองค์การนิรโทษกรรมสากล ประเทศไทย เป็นการรวมกลุ่มเล็กๆ ในรูปแบบของอาสาสมัครและสมาชิกแบบปัจเจกบุคคล เพื่อดำเนินกิจกรรมตามอาณัติของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล และเพื่อสร้างวัฒนธรรมสิทธิมนุษยชนให้เกิดขึ้นในสังคมไทย ซึ่งในช่วงเวลานั้นยังไม่มีการจัดตั้งองค์กรอย่างเป็นทางการ ไม่มีเจ้าหน้าที่ ไม่มีระบบสมาชิก และไม่มีสำนักงาน

นอกจากนี้ ยังมีการทำงานร่วมกันของเครือข่ายองค์กรสิทธิมนุษยชนที่มีอยู่ในขณะนั้นด้วย คือ "คณะกรรมการประสานงานองค์กรสิทธิมนุษยชน (กปส.) ซึ่งประกอบด้วยองค์กรต่างๆ ดังนี้

  1. สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.)
  2. กลุ่มประสานงานศาสนาเพื่อสังคม (กศส.)
  3. คณะกรรมการยุติธรรมและสันติแห่งประเทศไทย (ยส.)คณะกรรมการคาทอลิกเพื่อความยุติธรรมและสันติในปัจจุบัน
  4. กลุ่มเพื่อนหญิง (มูลนิธิเพื่อนหญิงในปัจจุบัน)
  5. ศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก (มูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็กในปัจจุบัน)
  6. ศูนย์ฮอตไลน์เอเชีย (ดูแลและประสานงานรณรงค์สิทธิมนุษยชนในภูมิภาค)

โดยแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ไม่ได้เป็นหนึ่งในองค์กรของคณะกรรมการประสานงานองค์กรสิทธิมนุษยชน (กปส.) โดยตรง เนื่องจากสมาชิกส่วนใหญ่ของแอมเนสตี้ ประเทศไทยนั้นเป็นบุคคลที่ทำงานประจำอยู่ในองค์กรเหล่านั้น แต่ได้ใช้เวลาว่าง วันเสาร์-อาทิตย์ หรือตอนเย็นของบางวัน มารวมกลุ่มทำกิจกรรมต่างๆ ร่วมกันในบทบาทของการเป็นอาสาสมัครของแอมเนสตี้ ประเทศไทยนั่นเอง โดยใช้สำนักงานของกลุ่มประสานงานศาสนาเพื่อสังคม (กศส.) ซอยอยู่ออมสิน ใกล้พาต้า ปิ่นเกล้า เป็นสถานที่ในการประสานงานกับทางแอมเนสตี้ ลอนดอน

ต่อมาในปี พ.ศ.2527 ทางกลุ่มแอมเนสตี้ ประเทศไทย เริ่มจัดกิจกรรมต่างๆ มากขึ้น เพื่อต้องการให้แอมเนสตี้เป็นที่รู้จักในสาธารณชน ด้วยวิธีการต่างๆ อาทิ

  1. เนื่องจาก แอมเนสตี้ ประเทศไทย ยังไม่เป็นองค์กรที่สมบูรณ์อย่างเป็นทางการ ทำให้ไม่ได้รับทุนในการปฏิบัติงานและกิจกรรมต่างๆ จากสำนักเลขาธิการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล (International Secretariat) ดังนั้นการระดมทุนจึงเป็นกิจกรรมสำคัญในการหาทุนเพื่อปฏิบัติงานและกิจกรรมต่อไป ทั้งการลงขันของกลุ่ม ในการประดิษฐ์สิ่งของที่ทำขึ้นเอง เช่น การทำถุงผ้าขาย สติ๊กเกอร์ พวงกุญแจ จำหน่ายในงานขันโตกดินเนอร์ ที่สำนักกลางนักเรียนคริสเตียน (สนค.) เป็นต้น รวมทั้งการขายสินค้าเล็กๆ น้อยๆ ของแอมเนสตี้จากลอนดอน ผ่านสจ๊วตคนไทยที่เป็นอาสาสมัครของแอมเนสตี้นำสินค้ามาร่วมจำหน่าย และเป็นผู้ที่นำสื่อเอกสารของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล มาศึกษากันในกลุ่มและเผยแพร่ข้อมูล ข่าวสาร และกิจกรรมต่างๆ เหล่านั้นสู่สาธารณชน
  2. การจัดกิจกรรมในที่สาธารณะ ทั้งการจัดนิทรรศการ งานสัมมนา และมีการแจก Brochure แนะนำองค์กรและกิจกรรมต่างๆ ขององค์กร เอกสารแผ่นพับการรณรงค์ในประเด็นต่างๆ ที่ผ่านการแปลเป็นภาษาไทยแล้ว ด้วยการช่วยเหลือกันของอาสาสมัครของแอมเนสตี้ ประเทศไทยเอง
  3. การรณรงค์ตามอาณัติของแอมเนสตี้ 4  ประการ คือ คัดค้านโทษประหารชีวิต รณรงค์นักโทษทางการเมือง รณรงค์เรื่องนักโทษทางความคิด และต่อต้านการทรมาน กิจกรรมหลักคือ การเขียนจดหมายรณรงค์
  4. การสอนให้เขียนจดหมายภาษาอังกฤษถึงรัฐบาล และนักโทษทางความคิด เพื่อเป็นการฝึกทักษะจิตสาธารณะ เป็นเครื่องมือในการขยายความคิด และเป็นสื่อที่ต่อถึงกันระหว่างบุคคลและกลุ่ม

ซึ่งกิจกรรมต่างๆ เหล่านี้ บางครั้งก็ได้รับความสนใจบ้าง บางครั้งก็ถูกมองข้ามไป เนื่องจากประชาชนไม่สนใจ มองคำว่า "สิทธิมนุษยชน" เป็นเรื่องไกลตัว และเข้าใจยาก อีกทั้งทางรัฐบาลก็ยังคงไม่สนับสนุนและส่งเสริมการมีวัฒนธรรมสิทธิมนุษยชนให้เกิดขึ้นในสังคมไทยมากนัก  ดังนั้น "สิทธิมนุษยชน" ในเวลานั้น ก็ถูกจำกัดให้รู้และเข้าใจอยู่ในเพียงกลุ่มเล็กๆ ที่รู้จัก และเจ้าหน้าที่หรือสมาชิกหรืออาสาสมัครของแอมเนสตี้ ประเทศไทย รวมทั้งองค์กรเครือข่ายทางด้านสิทธิมนุษยชนอื่นๆ

ในปี พ.ศ. 2528  Silata ชาวอีนเดีย เจ้าหน้าที่ดูแลและประสานภูมิภาคเอเชียของทางสำนักเลขาธิการ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล (International Secretariat) เดินทางมาไทย มีการจัดงานสัมมนาที่จังหวัดระยอง   เป็นกิจกรรม Picnic บรรยากาศสบายๆ เป็นกันเอง โดยให้ Silata เป็นวิทยากรให้ความรู้ ความเข้าใจในเรื่องสิทธิมนุษยชนแก่สมาชิกและอาสาสมัครของแอมเนสตี้ ประเทศไทย

ในช่วงเวลาต่อมา แอมเนสตี้ ประเทศไทย ก็ได้มีการแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม เพื่อความสะดวกในการประชุม คือ

  1. กลุ่มที่ 1 : คุณสันติ อิศโรวุธกุล (รับหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงให้กลุ่ม) ประกอบด้วย คุณศราวุธ ประทุมราช, คุณสุภัตรา ภูมิประภาส, สมศรี หาญอนันทสุข, ดร.เจริญ คัมภีรภาพ, บุญแทน ตันสุเทพวีรวงศ์ ฯลฯ
  2. กลุ่มที่ 2 : คุณสมชาย หอมลออ (เป็นหัวหน้ากลุ่ม) ประกอบด้วย นักวิชาการ นักธุรกิจ (หน้าที่ในการหาสมาชิกเข้าร่วมกลุ่มมาเพื่อสนับสนุนงบประมาณและเป็นทุนให้แอมเนสตี้ ประเทศไทย ทั้งสองกลุ่มดำเนินกิจกรรมต่างๆ) 

ในปีต่อมา พ.ศ.2529 ทางสำนักเลขาธิการ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล (International Secretariat) ได้จัดส่งเจ้าหน้าที่วิจัยคนหนึ่งเข้ามาในไทย เพื่อเก็บข้อมูลรายงานเรื่อง ผู้ลี้ภัยชาวเขมรที่เข้ามาอยู่ในเมืองไทย ที่มีแหล่งข่าวว่า ผู้ลี้ภัยชาวเขมรถูกทารุณกรรมจากเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจชายแดนไทย  โดยนักวิจัยคนนั้นได้เข้ามาขอความช่วยเหลือและคำแนะนำจากคุณสมชาย หอมลออ ซึ่งเป็นผู้จัดการอยู่ที่สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.) ในช่วงเวลานั้น แต่คุณสมชายก็ไม่แนะนำอะไรมากนัก  เมื่อทางเจ้าหน้าที่วิจัยคนนั้นได้ข้อมูลแล้ว ก็กลับไปรายงานผลให้ทางสำนักเลขาธิการ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล (International Secretariat) ปรากฎว่า รายงานฉบับนั้นออกมา ซึ่งเป็นการวิพากษ์วิจารณ์การกระทำของรัฐบาลไทยในเรื่อง การทารุณกรรมผู้ลี้ภัยชาวเขมรที่เข้ามาอยู่ในเมืองไทยจริง ส่งผลให้รัฐบาลไทยออกมาประณามแถลงการณ์ของรายงานฉบับนี้  คุณสมชาย หอมลออ และภรรยา ถูกเพ่งเล็งจากรัฐบาลไทยว่าเป็นหนึ่งในผู้ที่ให้ข้อมูลแก่นักวิจัยคนนั้น ทำให้คุณสมชายและภรรยาต้องลี้ภัยไปอยู่ต่างประเทศ ขณะเดียวกันแอมเนสตี้ ประเทศไทย รวมทั้งองค์กรเครือข่ายสิทธิมนุษยชนอื่นๆ ก็ถูกจำกัดบทบาทลง และไม่สามารถทำกิจกรรมต่างๆ ในที่สาธารณะได้มากนัก

ณ ช่วงเวลานี้ จึงเป็นช่วงเวลาของการชักชวนและรวมกลุ่มกันของบุคคลที่รู้จักและสนใจในงานทางด้านสิทธิมนุษยชนมาทำกิจกรรมต่างๆ ร่วมกันบนพื้นที่เล็กๆ ของสังคมไทย

ช่วงที่ 3  พัฒนาการ (พ.ศ.2531-2545)  :  เปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งที่ดีกว่า

ประวัติความเป็นมา

เหตุการณ์ในอดีตต่างๆ ก็เริ่มคลี่คลายลง  ในปี พ.ศ. 2531-2532 ทางแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ระดับเอเชียแปซิฟิก (กลุ่ม 7) ได้จัดประชุมกันที่โรงแรมเวียงใต้ บางลำภู  ซึ่งการประชุมในครั้งนั้นเป็นการเปิดโอกาสให้ทางแอมเนสตี้ ประเทศไทย ได้รู้จักเจ้าหน้าที่และบุคคลอื่นๆ ของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลมากขึ้น ได้เรียนรู้ กระบวนการทำงานทางด้านสิทธิมนุษยชนขององค์กรและในประเทศอื่นๆ ที่เป็นสมาชิกของแอมเนสตี้ด้วย  และในปีเดียวกัน พ.ศ. 2532 แอมเนสตี้ ประเทศไทย ได้รับความอนุเคราะห์ให้ใช้สำนักงานที่สำนักพิมพ์หนังสือพิมพ์การเมืองรายสัปดาห์ "อาทิตย์วิเคราะห์" ที่มีคุณวสันต์ พานิช (ทนายความสิทธิมนุษยชน และเป็นทนายความในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519) เป็นหุ้นส่วน ให้ใช้สถานที่เป็นสำนักงานฟรี  ถนนพิชัย (ใกล้รัฐสภาในปัจจุบัน)

พ.ศ.2534 เริ่มมีระบบของสมาชิก แต่ก็ยังคงมีสมาชิกจำนวนน้อย เนื่องจากแอมเนสตี้ ประเทศไทย ยังไม่ได้เป็นที่รู้จักในสังคมไทยมากนัก และในปีเดียวกันนี้เองมีการจัดทำจดหมายข่าว (News Letter) เป็นฉบับแรก เป็นฉบับที่แปลมาจากต้นฉบับของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล อีกทีหนึ่ง ยังไม่ได้มีเนื้อหาข่าวเป็นของตัวเอง

ในปีต่อมา พ.ศ. 2535  จากเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ  แอมเนสตี้ ประเทศไทย ได้รับความสนใจอีกครั้ง แนวความคิดขององค์กรได้ขยายจากกลุ่มอดีตผู้นำนักศึกษา นักกิจกรรมทางสังคม นักกฎหมาย นักแปล ไปสู่กลุ่มใหม่ อาทิ นักเรียน และอาชีพอื่นๆ ทำให้แอมเนสตี้ ประเทศไทย เป็นที่รู้จักของประชาชน  และเริ่มมีบทบาทในสังคมไทยมากขึ้น

ต่อมาแอมเนสตี้ ประเทศไทย มีการจัดตั้งและเลือกบอร์ดคณะกรรมการบริหารของแอมเนสตี้ ประเทศไทยเป็นครั้งแรก ในปี พ.ศ.2536  โดยมีคุณสันติ อิศโรวุธกุล เป็นประธานคณะกรรมการบริหารคนแรก ซึ่งในขณะนั้นยังไม่มีผู้อำนวยการ  และในปีถัดมา พ.ศ.2537 มีการประชุมใหญ่ประจำปี (AGM : Annual  General  Meeting)  เป็นครั้งแรกของแอมเนสตี้ ประเทศไทย และในช่วงนี้ แอมเนสตี้ ประเทศไทย ก็ได้มีการแบ่งกลุ่มตามประเด็นการรณรงค์และบทบาทในหน้าที่นั้นๆ ทั้งหมด 9 กลุ่ม อาทิ กลุ่มไม่ธรรมดา, กลุ่มบางกอกโฟร์, กลุ่ม LGBT (Lesbian Gay Bisexual Transgender), กลุ่มทนายความ และกลุ่มที่อยู่เชียงใหม่ (งานที่เกี่ยวข้องกับประเด็นสิทธิผู้หญิง) เป็นต้น

พ.ศ. 2541-2545

  • พ.ศ. 2541 สำนักงานของแอมเนสตี้ ประเทศไทย อยู่ที่ 61/9 อาคารพาร์คเพลินจิต ชั้น 2 สุขุมวิท ซอย 1 ถนนสุขุมวิท แขวงคลองเตยเหนือ เขตวัฒนา กรุงเทพฯ 10110 และได้ย้ายสำนักงานมาอยู่ที่ 125/4 ซอย 89 ถนนสุขุมวิท เขตพระโขนง กทม. 10110 ในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2544
  • ริเริ่มจดทะเบียนเป็นสมาคม มีฐานะเป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย แต่ยังไม่เป็นผลสำเร็จ
  • มีเว็บไซค์ของแอมเนสตี้ ประเทศไทยเป็นครั้งแรก ในปี พ.ศ.2541 http://chmai.loxinfo.co.th/~aithnd/menu_t.html และในวันที่ 28 พฤษภาคม 2544 งาน 40 ปี ครบรอบการก่อตั้งแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ซึ่งในโอกาสนี้ได้นำเสนอเว็บไซด์ขององค์กรรูปแบบใหม่ http://www.amnesty.or.th เพื่อร่วมเฉลิมฉลองการครบรอบการก่อตั้งด้วย
  • งานรางวัลสื่อมวลชนดีเด่นด้านสิทธิมนุษยชน (Journalist Award On Human Rights) ประจำปี 2541 เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2541 ณ ห้องบุษราคัมบอลรูม โรงแรมอมารีเอเทรี่ยม (ยังหาข้อมูลของงานรางวัลนี้ไม่ได้ว่าเริ่มเมื่อใด) และในปี พ.ศ. 2544 มีงานรางวัลสื่อมวลชนดีเด่นด้านสิทธิมนุษยชน (Press Award)
  • งานพัฒนาสมาชิกและเครือข่าย (Membership) : ด้วยการจัดกิจกรรมรณรงค์และงานสิทธิมนุษยศึกษา รวมทั้งการออกแบบสื่อขององค์กรให้น่าสนใจและทันสมัย เพื่อสร้างเครือข่ายสมาชิกให้เพิ่มขึ้น อาทิ
  • พ.ศ. 2544 มีการจัดทำจดหมายข่าว (News Letter) ในรูปแบบใหม่ที่น่าสนใจมากขึ้น ด้วยรูปแบบที่มีสีสัน มีคอลัมภ์พิเศษ ทั้งการสัมภาษณ์ และภาพกิจกรรมต่างๆ เป็นต้น
  • และมีการจัดกิจกรรม Light up night ขึ้นเป็นครั้งแรก โดยเตรียมงานตั้งแต่ปลายปี พ.ศ. 2544 และจัดต้นปี ในวันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2545 ที่ SASA
  • งานรณรงค์ (Campaign) ทั้งงานรณรงค์ขององค์กรเอง และร่วมมือกับภาคีเครือข่ายองค์กรทางด้านสิทธิมนุษยชนทั้งในประเทศและต่างประเทศ อาทิ
    • จดหมายอุทธรณ์เรียกร้องสิทธิมนุษยชน ในปี พ.ศ. 2541 ประเด็นเรื่อง "ประเทศปากีสถาน – นักโทษที่มิได้กระทำความผิด" Abdul Qadeer, Muhammad Shahbaz และ Ishfaq Ahmad สมาชิกทั้งสามของกลุ่มศาสนา Ahmadiyya ของปากีสถาน
    • โครงการลงนามสนับสนุนสิทธิมนุษยชน Get Up Sign Up หรือ รณรงค์ให้ประชาชนร่วมลงนามสนับสนุน เพื่อจะนำรายชื่อของประชาคมโลกยื่นต่อสหประชาชาติ โดยหวังที่จะให้สหประชาชาตินำรายชื่อเหล่านี้ นำไปย้ำเตือนรัฐบาลนานาประเทศ ให้ตระหนักต่อการเคารพสิทธิมนุษยชนต่อประชากรของตนเองให้มากขึ้น ระยะเวลาของโครงการ กำหนดภายในวันที่ 31 พฤศจิกายน 2541 เพื่อที่จะนำเสนอรายชื่อแก่องค์การสหประชาชาติในวันที่ 10 ธันวาคม 2541 โดยความร่วมมือระหว่างปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ กับแอมเนสตี้ ประเทศไทย และประเทศอื่นๆ อีกกว่า 125 ประเทศ ซึ่งในการรณรงค์ครั้งนี้ได้รับความช่วยเหลือจากแอมเนสตี้ ประเทศเนเธอร์แลนด์ ส่งอาสาสมัครมาช่วยรณรงค์เป็นเวลา 1 เดือน คือ Mr. Edwin Keijzer
    • โครงการการรณรงค์เพื่อยุติการทารุณกรรม (Take a Step to Stamp out Torture) เริ่มตั้งแต่เดือนตุลาคม 2543 - สิ้นเดือนกันยายน 2544 โดยเริ่มเปิดตัวโครงการในวันที่ 18 ตุลาคม จากประเทศหลักๆ ในภูมิภาค เช่น ญี่ปุ่น ไทย เลบานอน เคนยา ฝรั่งเศส และอาร์เจนตินา แล้วขยายออกไปยังประเทศต่างๆ ทั่วโลก ในส่วนของแอมเนสตี้ ประเทศไทย
    • พม่า : การรณรงค์ยุติการปราบปรามของทางการ
    • งานครบรอบ 10 ปี กับการหายตัวไปของ ทนง โพธิอ่าน ผู้นำแรงงาน
    • โครงการไทยบรรเทาทุกข์: น้ำใจสู่ติมอร์ (Timor) โดยจัดร่วมกับ Forum Asia
    • วันสิทธิทางการเมืองไทย (Political Rights) โดยจัดร่วมกับ คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย และกลุ่มเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนอื่นๆ
    • วันพฤษภาทมิฬ โดยจัดร่วมกับ คณะกรรมการญาติวีรชน เป็นการจัดนิทรรศการเกี่ยวกับองค์กร และการรณรงค์ยุติการทารุณกรรม ตลอดจนเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับพฤษภาทมิฬ
    • สานสัมพันธ์เจ้าพระยา-สาละวิน ที่สำนักกลางนักเรียนคริสเตียน โดยจัดร่วมกับ TACDB, Forum Asia เป็นการจัดนิทรรศการแนะนำองค์กร แจกเอกสารข่าวที่ได้รับจากสำนักงานเลขาธิการ นิทรรศการภาพถ่ายที่ได้รับจากแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ออสเตรเลีย
    • สถานทูตเอกอัครราชทูตนอร์เวย์ เชิญผู้อำนวยการแอมเนสตี้ ประเทศไทย เข้าร่วมการเปิด
    • โครงการขยายชุดวีดีโอเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน A Matter of Rights ซึ่งจัดขึ้นที่บ้านพักเอกอัครราชทูตนอร์เวย์ วีดีโอชุดดังกล่าวจัดทำขึ้นโดย UNICEF ร่วมกับ Worldview International Foundation และ Young Asia Television ภายใต้โครงการที่มีชื่อว่า Promoting the Right to Development เพื่อเผยแพร่และให้ความรู้เกี่ยวกับแนวความคิดในการพัฒนาและสิทธิมนุษยชนแก่ประชาชนในภูมิภาคผ่านสื่อมวลชน และโครงการดังกล่าวได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลนอร์เวย์
    • กิจกรรมวันสิทธิมนุษยชนสากล ฯลฯ

ช่วงที่ 4  ปัจจุบัน (พ.ศ.2546-ปัจจุบัน)  :  สร้างวัฒนธรรมสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย

ตั้งแต่ปี พ.ศ.2546-ปัจจุบัน เป็นช่วงการเปลี่ยนผ่านที่สำคัญของแอมเนสตี้ ประเทศไทย มีปฏิบัติการสร้างวัฒนธรรมสิทธิมนุษยชนในสังคมไทยที่มีความหลากหลายและต่อเนื่องของกิจกรรม ดังนี้

พ.ศ. 2546-2553

  • ได้มีการจดทะเบียนองค์กรเป็น "สมาคมเพื่อองค์การนิรโทษกรรมสากล" ในปี พ.ศ. 2546
  • ปี พ.ศ. 2547 ได้ย้ายสำนักงานจากเดิมไปที่ 641/8 วราเพส ลาดพร้าว ซอย 5 จตุจักร กทม. 10900 และภายหลังได้ย้ายมาที่ 90/24 ซอยดวงพร ลาดพร้าว ซอย 1 แขวงจอมพล เขตจตุจักร กทม. 10900 ในปัจจุบัน
  • แอมเนสตี้ ประเทศไทย ทำหน้าที่เป็นเจ้าภาพในการจัดประชุมให้กับสำนักเลขาธิการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล (International Secretariat) 2 กิจกรรม คือ การสัมมนาประธานและผู้อำนวยการแอมเนสตี้ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก และการประชุมฝึกอบรมของฝ่ายรณรงค์ของแอมเนสตี้ในภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก ในปี 2547 นอกจากนี้ในปี พ.ศ. 2553 Salil Shetty เลขาธิการของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ก็มาพบปะ ร่วมพูดคุยกับเจ้าหน้าที่แอมเนสตี้ ประเทศไทยด้วย
  • งานรางวัลสื่อมวลชนดีเด่นด้านสิทธิมนุษยชน (Press Award) ในปี พ.ศ. 2547 และ 2550
  • งานพัฒนาสมาชิกและเครือข่าย (Membership) : เมื่อปลายปี พ.ศ. 2547 แอมเนสตี้ มีสมาชิกประมาณ 701 คน ซึ่งกระจายตัวอยู่ทั่วประเทศ มีเยาวชนที่เป็นนักเรียน นิสิต-นักศึกษา ในอัตราส่วนที่สูงกว่ากลุ่มวิชาชีพอื่นๆ รวมทั้งนักเรียน นักศึกษาจากโรงเรียนนานาชาติ ซึ่งแต่ละแห่งจะมีกลุ่มกิจกรรม และการจัดการด้วยตนเอง

ปลายปี พ.ศ.2548 แอมเนสตี้ ประเทศไทย มีสมาชิกรวม 809 คน และในปลายปี พ.ศ. 2549 มีสมาชิกเพิ่มจำนวนขึ้นเป็น 1,112 คน มีการขยายสมาชิก ด้วยการจัดโครงการขยายสมาชิก ทำกิจกรรมต่างๆ กับสมาชิก โดยการออกเยี่ยมโรงเรียนต่างๆ ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ควบคู่กับกิจกรรมสิทธิมนุษยชนศึกษาและการหาสมาชิก และจัดกิจกรรมค่ายเยาวชนให้กับสมาชิกและผู้ที่สนใจ รวมถึงการพัฒนา การมีส่วนร่วมของสมาชิกให้มีความกระตือรือร้น และใฝ่เรียนรู้ประสบการณ์ และบทเรียนใหม่ๆ ที่จะดำเนินการต่อไปได้อย่างมีประสิทธิภาพและเป็นระบบ แต่มีบ้างบางช่วงที่เกิดปัญหาและอุปสรรค ทำให้มีผลกระทบต่อองค์กรในเรื่องของสมาชิกที่ให้การสนับสนุนและช่วยเหลือลดจำนวนน้อยลง โดยปัจจุบันมีสมาชิกประมาณ 600 คน (พ.ศ.2553)

  • แอมเนสตี้ ประเทศไทย ได้มีการปรับปรุงหน้าเว็บไซต์ ให้มีเนื้อหาหลากหลายกว่าเดิม ทันสมัยมากขึ้น และมีการจัดทำจดหมาข่าว (News Letter) ส่งให้สมาชิกและผู้สนใจเป็นระยะๆ รวมทั้งกิจกรรมต่างๆ สำหรับสมาชิก อาทิ Light up night, Human Right Tour, Human Right Film, Human Rights Day, Write for Rights เป็นต้น นอกจากนี้มีการผลิต แผ่นพับ หนังสือคู่มือสมาชิก และเอกสารสิ่งพิมพ์อื่นๆ เช่น โปสเตอร์ โปสการ์ด ฯลฯ ใช้ในการสร้างเครือข่าย และพัฒนาความร่วมมือระหว่างองค์กรที่เกี่ยวข้องด้วย

งานรณรงค์ (Campaign) :

  • ยุติการลงโทษประหารชีวิต
  • ยุติความรุนแรงต่อสตรี เด็ก และความรุนแรงในครอบครัว
    • โรงเรียนปลอดภัยสำหรับนักเรียนหญิง
    • โครงการรณรงค์ หนึ่งแสนฝ่ามือยุติความรุนแรงต่อสตรี และ รถตู้รณรงค์สัญจรทั่วประเทศเพื่อยุติความรุนแรงต่อสตรี
    • โครงการรณรงค์ยุติการใช้ทหารเด็ก และการละเมิดสิทธิเด็กในสถานการณ์ที่มีความขัดแย้งด้านกำลังอาวุธ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
  • ยุติการทรมาน และการต่อต้านการก่อการร้าย
  • เด็กไร้สัญชาติ ผู้ลี้ภัย คนพลัดถิ่น และคนชายขอบ
  • นักโทษทางความคิด ผู้ต้องหาทางการเมือง และนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน
    • กิจกรรมรณรงค์เพื่อปลดปล่อยนักโทษทางการเมืองยังดำเนินการอย่างต่อเนื่อง มีการรณรงค์ที่ได้รับผลผลสำเร็จ คือ การรณรงค์ให้ปล่อยตัวนักโทษการเมืองจากกัมพูชา นายซกเยือน ยังผลให้เขาสามารถเดินทางไปลี้ภัยในต่างแดนร่วมกับสมาชิกครอบครัวของเขาที่ได้เดินทางล่วงหน้าก่อนหน้าที่เขาจะได้รับอิสรภาพ
    • แอมเนสตี้ได้แถลงข่าว และให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนหลายครั้งหลายหนโดยเฉพาะในประเด็นผู้ต้องหาทางการเมือง นักโทษประหาร และการทารุณกรรมผู้ต้องหา เป็นต้น
  • รณรงค์ประเด็นสิทธิมนุษยชนในประเทศเนปาล กัมพูชา พม่า ฯลฯ
  • ส่งเสริมสิทธิผู้ด้อยโอกาส เช่น เด็ก สตรี ผู้ติดเชื้อ เอช ไอ วี ผู้ลี้ภัย ผู้ต้องหา นักโทษ ฯลฯ
  • การรณรงค์เพื่อให้มีการควบคุมการใช้อาวุธ และค้าอาวุธ
  • สิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม (ESCR)
  • กิจกรรมวันสิทธิมนุษยชนสากล
    • ร่วมจัดกิจกรรมการสัมมนา และแถลงข่าวเนื่องในโอกาสต่าง ๆ เช่น วันสิทธิมนุษยชน
    • ประเด็นด่วน และร้อนแรง อาทิ การเรียกร้องสันติภาพในอิสราเอล เลบานอน, รณรงค์สันติภาพหน้าสถานทูตพม่าในกรุงเทพมหานคร และสถานการณ์ความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้

งานสิทธิมนุษยชนศึกษา (HRE : Human Right Education) :

ด้วยการสนับสนุนจากองค์กรเครือข่ายพันธมิตรในประเทศนอร์เวย์ แผนงานสิทธิมนุษยชนศึกษาอย่างเป็นระบบก็ได้เกิดขึ้น โครงการกำหนดไว้ 3 ปี จาก ปี พ.ศ. 2547 -2549 กิจกรรมหลัก ๆ ประกอบด้วย การผลิตสื่อในการรณรงค์ สื่อการเรียน การสอน โครงการฝึกอบรมวิทยากรสิทธิมนุษยชนศึกษา โครงการค่ายเยาวชนสิทธิมนุษยชน โครงการอบรมให้กับผู้นำชุมชนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ด้วยความร่วมมือกับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เป็นต้น นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่โครงการยังได้มีโอกาสไปร่วมประชุมสัมมนาในระดับสากล ที่โมนาโค เพื่อนำประสบการณ์กลับมาประยุกต์ใช้ให้เหมาะสม ขณะเดียวกัน แอมเนสตี้ ก็พยายามประสานความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ เช่น กรมคุ้มครองสิทธิฯ กระทรวงยุติธรรม กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ตลอดจนองค์กรอิสระ เช่น คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เป็นต้น

นอกจากนี้ ในปีต่อๆ มา งานสิทธิมนุษยชนศึกษา ได้พัฒนารูปแบบกิจกรรมให้มีความหลากหลายเพื่อตอบรับกับการเปลี่ยนแปลงที่มีขึ้นอยู่ตลอดเวลา อาทิ

  • โครงการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการสิทธิมนุษยศึกษา ทั้งในสถานศึกษา ชุมชน หน่วยงานราชการ (กรมราชทัณฑ์) และเจ้าหน้าที่ กรรมการ อาสาสมัคร สมาชิกของแอมเนสตี้ ประเทศไทยด้วย
  • พัฒนาเครือข่ายเยาวชนนักสิทธิมนุษยชน ด้วยการจัดค่ายในหลายๆ พื้นที่
  • การผลิตสื่อการเรียนรู้ คู่มือ โปสเตอร์ และแผ่นซีดี และได้มีการจัดส่งไปตามห้องสมุด โรงเรียนและมหาวิทยาลัยต่างๆ ทั่วประเทศ

ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2546-ปัจจุบัน พัฒนาการต่างๆ ของแอมเนสตี้ได้สร้างวัฒนธรรมสิทธิมนุษยชนให้เกิดขึ้นในสังคมไทยอย่างกว้างขวาง ตอบรับกับการเปลี่ยนแปลงของสังคมที่มีอยู่ตลอดเวล โดยผ่านกิจกรรมในด้านเนื้อหาและโอกาสที่แตกต่างกัน ทั้งในส่วนนักเรียน นักศึกษา ครูอาจารย์ นักสิทธิมนุษยชน นักพัฒนาภาคเอกชน และองค์กรชุมชน สื่อมวลชน ตลอดจนชนกลุ่มน้อย เช่นมุสลิม และกลุ่มชาติพันธุ์ ที่มีความหลากหลาย และกลุ่มผู้ด้อยโอกาส เช่น เครือข่ายผู้ติดเชื้อ เอชไอวี เอดส์ เป็นต้น รวมทั้งการประสานงาน และแสวงหาความร่วมมือกับบุคลากรของภาครัฐ และหน่วยงานราชการ เช่นกระทรวงยุติธรรม กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงมนุษย์ กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงสาธารณสุข กรมคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน รวมถึงภาคการเมือง และองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ เช่น คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เป็นต้น บวกกับการปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ที่เป็นไปตามอาณัติ (mandate) ของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล การวางแผนยุทธศาสตร์การปฏิบัติงานร่วมกัน มีการประชุมประจำปี (AGE: Annual General Meeting) และการรายงานสถานการณ์ กิจกรรมต่างๆ ของแอมเนสตี้ ประเทศไทยในทุกๆ ปี

.. และนี่คือ ปัจจุบันของแอมเนสตี้ที่จะก้าวเดินทางต่อไปในวันข้างหน้าอย่างมีเป้าหมายเพื่อปกป้อง คุ้มครอง และพัฒนาสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพในสังคมไทย