FOR ENGLISH, PLEASE CLICK HERE.
อย่าปล่อยให้ ‘เพียว เพียว อ่อง’ และนักศึกษาเมียนมาอีก 70 คน
ต้องติดคุกถึง 9 ปีเพราะประท้วงต่อต้าน พ.ร.บ.การศึกษาฉบับใหม่อย่างสงบ
- เพียว เพียว อ่อง เป็นหนึ่งในผู้นำสหภาพนักศึกษาในเมียนมา เธอถูกจับพร้อมกับเพื่อนนักศึกษาอีก 70 คน หลังออกมาประท้วงต่อต้าน พ.ร.บ.การศึกษาฉบับใหม่ เนื่องจากมองว่าเป็นกฎหมายที่กดขี่เสรีภาพทางวิชาการในประเทศ
- ระหว่างถูกจับในวันที่ 10 มีนาคม 2558 เกิดการปะทะกันระหว่างตำรวจและกลุ่มนักศึกษา ผู้เห็นเหตุการณ์เล่าว่าตำรวจใช้ไม้กระบองทุบตีผู้ประท้วงด้วย
- เพียว เพียว อ่อง และเพื่อนนักศึกษาอีก 70 คนถูกตั้งข้อหาอาญาหลายข้อหาและถูกจำคุกตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา จากจำนวนผู้ถูกตั้งข้อหาครั้งนั้นมากกว่า 100 คน บางคนถูกขังเดี่ยว ไม่สามารถติดต่อกับทนายและ หลายคนเสี่ยงต้องโทษจำคุกสูงสุดถึง 9 ปี
- นอกจากการเลือกตั้งทั่วไปของเมียนมาในวันที่ 8 พฤศจิกายน 2558 ที่ทั่วโลกจับตามองแล้ว กรณีของเพียว เพียว อ่องและเพื่อนนักศึกษาจะเป็นอีกบทพิสูจน์หนึ่งว่ารัฐบาลเมียนมามีความจริงใจในการส่งเสริมประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนมากน้อยแค่ไหน
- มาร่วมกันใข้โอกาสนี้เรียกร้องให้รัฐบาลเมียนมาปล่อยตัวเพียว เพียว อ่อง และเพื่อนนักศึกษาที่ประท้วงอย่างสงบโดยทันทีและไม่มีเงื่อนไข
ข้อเรียกร้อง
ถึงประธานาธิบดีเต่งเส็ง แห่งเมียนมา
พวกเรามีความกังวลอย่างมากต่อกรณีของเพียว เพียว อ่อง และเพื่อนนักศึกษาเมียนมาอีก 70 คนที่ถูกควบคุมตัวและเสี่ยงต้องโทษจำคุกถึง 9 ปี เพียงเพราะประท้วงต่อต้านพ.ร.บ.การศึกษาฉบับใหม่อย่างสงบ พวกเราจึงขอเรียกร้อง
- ให้ปล่อยตัว เพียว เพียว อ่อง และเพื่อนนักศึกษาที่ประท้วงอย่างสงบทุกคนทันทีโดยไม่มีเงื่อนไข
- ให้รับรองว่าระหว่างรอการปล่อยตัว เพียว เพียว อ่อง และเพื่อนนักศึกษาต้องไม่ถูกทรมานหรือปฏิบัติอย่างโหดร้าย สามารถติดต่อครอบครัวและทนายความได้ ตลอดจนเข้าถึงการรักษาพยาบาลหากมีความจำเป็น
ข้อมูลเพิ่มเติม
ช่วงต้นปี 2558 เพียว เพียว อ่อง เป็นหนึ่งในผู้นำสหภาพนักศึกษาเมียนมาที่ช่วยจัดการเดินขบวนประท้วงต่อต้านการผ่านพระราชบัญญัติการศึกษาฉบับใหม่ของสภา ซึ่งนักศึกษามองว่าเป็นกฎหมายที่กดขี่เสรีภาพทางวิชาการ
ในเดือนมีนาคม 2558 ที่ผ่านมา กลุ่มนักศึกษาและผู้สนับสนุนรวมตัวกันในเมืองเลตปาดัง พร้อมประกาศเริ่มเดินขบวนไปยังกรุงย่างกุ้ง แต่ถูกตำรวจขัดขวางไว้ เกิดการเผชิญหน้ากันระหว่างตำรวจกับนักศึกษานาน 8 วัน จนกระทั่งวันที่ 10 มีนาคม 2558 ตำรวจใช้กำลังสลายการชุมนุม ผู้เห็นเหตุการณ์เล่าว่าผู้ประท้วงพยายามฝ่าแนวกั้นของตำรวจ และเห็นตำรวจเริ่มทุบตีผู้ประท้วงด้วยไม้กระบอง
เพียว เพียว อ่อง และเพื่อนนักศึกษาอีก 70 คน ซึ่งบางส่วนได้รับบาดเจ็บจากการสลายการชุมนุม ถูกตั้งข้อหาอาญาหลายข้อหาและถูกจำคุกตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา จากจำนวนผู้ถูกตั้งข้อหาทั้งหมดในการประท้วงครั้งนั้นมากกว่า 100 คน บางคนถูกขังเดี่ยวทำให้ไม่สามารถติดต่อกับทนายและครอบครัวได้ โดยเพียว เพียว อ่องและเพื่อนนักศึกษาเหล่านี้อาจจะต้องถูกตัดสินด้วยโทษจำคุกสูงสุดถึง 9 ปี
กลุ่มนักศึกษาและสหภาพนักศึกษาในเมียนมามีบทบาทสำคัญในการประท้วงต่อต้านรัฐบาลทหารในอดีต และการประท้วงที่นำโดยนักศึกษามักขยายวงอย่างรวดเร็วกลายเป็นการเรียกร้องให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางการเมือง รัฐบาลทหารเมียนมาจึงปราบปรามสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุมอย่างสงบอย่างรุนแรงมาโดยตลอด เนื่องจากมองว่าขบวนการนักศึกษาเป็นภัยคุกคามต่ออำนาจของตน และมักตอบโต้อย่างเด็ดขาดกับการเคลื่อนไหวของนักศึกษา
ขณะเดียวกัน รัฐบาลเมียนมาก็ต้องการการยอมรับและการลงทุนจากนานาชาติมากขึ้น เห็นได้จากการเลือกตั้งครั้งสำคัญที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 8 พฤศจิกายน 2558 นี้ ซึ่งเป็นหนึ่งในความพยายามในการแสดงให้ทั่วโลกเห็นว่าเมียนมากำลังเดินหน้าไปสู่ประชาธิปไตยและการเคารพสิทธิมนุษยชนสากลมากขึ้น แต่แนวคิดดังกล่าวจะกลายเป็นจริงไม่ได้เลยหากรัฐบาลทหารเมียนมายังควบคุมตัวเพียว เพียว อ่อง และเพื่อนนักศึกษา
แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลจึงเชิญชวนคนทั่วโลกใช้โอกาสนี้เรียกร้องและกดดันให้รัฐบาลทหารเมียนมาพิสูจน์ว่ากำลังเดินหน้าไปสู่การปฏิรูปด้านประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนอย่างแท้จริง ด้วยการปล่อยตัวเพียว เพียว อ่อง และเพื่อนนักศึกษาโดยทันทีและไม่มีเงื่อนไข ตลอดจนสร้างความมั่นใจว่าขณะรอการปล่อยตัวอยู่ในคุก พวกเขาจะได้รับการปฏิบัติอย่างเป็นธรรม ไม่ถูกทรมาน เข้าถึงครอบครัว ทนายความ และความช่วยเหลือทางการแพทย์ได้
ลายเซ็นของคุณสำคัญอย่างไร?
- แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล รณรงค์ช่วยเหลือผู้ที่ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนในแคมเปญ “จดหมายรัก(ษ์)สิทธิ” (WRITE FOR RIGHTS-W4R) มากกว่า 200 ประเทศ/ดินแดนทั่วโลกเป็นประจำทุกปี
- ทุกครั้งที่คุณเข้าร่วมกิจกรรมของเรา ตั้งแต่การลงชื่อ เขียนจดหมาย ส่งอีเมล์ หรือแม้ทวีตข้อความ ทั้งหมดจะได้รับรวบรวมอย่างปลอดภัยและเป็นระบบ ก่อนจะส่งไปยังรัฐบาลของประเทศที่มีการละเมิดสิทธิมนุษยชน
- รายชื่อและข้อเรียกร้องจากนานาประเทศจะช่วยเพิ่มแรงกดดันให้รัฐบาลในประเทศที่เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนให้นำความยุติธรรมมาสู่ผู้ที่ถูกละเมิด เช่น การไต่สวนคดีใหม่ การปล่อยตัว การอภัยโทษ การยุติโทษประหาร
- ผู้ที่ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนในแคมเปญ W4R จะเปลี่ยนหน้าไปทุกปี ในแต่ละปีมีทั้งกรณีที่ยังต้องเรียกร้องต่อไปและกรณีที่ประสบความสำเร็จจากการลงชื่อของคนทั่วโลก อ่านเพิ่มเติมได้ที่ความสำเร็จของ W4R
- ในปี 2558 แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย เลือกรณรงค์ทั้งหมด 3 กรณี ได้แก่ การละเมิดสิทธิมนุษยชนในเมียนมา มาเลเซีย และเม็กซิโก ครอบคลุมประเด็นการชุมนุมอย่างสงบ เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และการทรมาน
ลงชื่อเรียกร้องความยุติธรรมให้คุณแม่ลูกสองที่ถูกตำรวจซ้อมและข่มขืมให้รับสารภาพ | ลงชื่อช่วยนักวาดการ์ตูนมาเลเซียที่โดน 9 ข้อหาหลังทวีตวิจารณ์รัฐ |
![]() |
![]() |