Error message

  • Deprecated function: preg_replace(): The /e modifier is deprecated, use preg_replace_callback instead in _filter_pubdlcnt() (line 50 of /home/amnestyo/domains/amnesty.or.th/public_html/old/sites/all/modules/contrib/pubdlcnt/pubdlcnt.module).
  • Deprecated function: preg_replace(): The /e modifier is deprecated, use preg_replace_callback instead in _filter_pubdlcnt() (line 50 of /home/amnestyo/domains/amnesty.or.th/public_html/old/sites/all/modules/contrib/pubdlcnt/pubdlcnt.module).
  • Deprecated function: preg_replace(): The /e modifier is deprecated, use preg_replace_callback instead in _filter_pubdlcnt() (line 50 of /home/amnestyo/domains/amnesty.or.th/public_html/old/sites/all/modules/contrib/pubdlcnt/pubdlcnt.module).
  • Deprecated function: preg_replace(): The /e modifier is deprecated, use preg_replace_callback instead in _filter_pubdlcnt() (line 50 of /home/amnestyo/domains/amnesty.or.th/public_html/old/sites/all/modules/contrib/pubdlcnt/pubdlcnt.module).
  • Deprecated function: preg_replace(): The /e modifier is deprecated, use preg_replace_callback instead in _filter_pubdlcnt() (line 50 of /home/amnestyo/domains/amnesty.or.th/public_html/old/sites/all/modules/contrib/pubdlcnt/pubdlcnt.module).
  • Deprecated function: preg_replace(): The /e modifier is deprecated, use preg_replace_callback instead in _filter_pubdlcnt() (line 50 of /home/amnestyo/domains/amnesty.or.th/public_html/old/sites/all/modules/contrib/pubdlcnt/pubdlcnt.module).
  • Deprecated function: preg_replace(): The /e modifier is deprecated, use preg_replace_callback instead in _filter_pubdlcnt() (line 50 of /home/amnestyo/domains/amnesty.or.th/public_html/old/sites/all/modules/contrib/pubdlcnt/pubdlcnt.module).
  • Deprecated function: preg_replace(): The /e modifier is deprecated, use preg_replace_callback instead in _filter_pubdlcnt() (line 50 of /home/amnestyo/domains/amnesty.or.th/public_html/old/sites/all/modules/contrib/pubdlcnt/pubdlcnt.module).

โทษประหารชีวิตป้องปรามอาชญากรรมได้จริงหรือ?

หมวดหมู่ : บล็อก

โทษประหารชีวิตป้องปรามอาชญากรรมได้จริงหรือ?

          เมื่อสังคมต้องเผชิญหน้ากับอาชญากรรมที่ร้ายแรง อุกอาจ สะเทือนขวัญ ปฏิกิริยาตอบรับที่เรามักจะพบเห็นได้ทั่วไปจากสื่อมวลชน ประชาชน และผู้นำทางการเมือง คือ การเรียกร้องให้นำโทษประหารชีวิตมาบังคับใช้ โดยเชื่อว่าบทลงโทษที่รุนแรง เช่น การประหารชีวิตจะช่วยยับยั้งและป้องปรามอาชญากรรม แต่ในความเป็นจริงแล้ว ความเชื่อดังกล่าวกลับไม่มีหลักฐานใดๆ ที่น่าเชื่อถือรองรับว่าการใช้โทษประหารช่วยป้องกันอาชญากรรมได้ดีกว่าการลงโทษแบบอื่น ในทางตรงข้ามมีรายงานการศึกษาจากนานาประเทศที่ระบุว่า โทษประหารชีวิตไม่มีความเกี่ยวข้องอัตราการเพิ่มขึ้นหรือการลดลงของอาชญากรรม เช่น งานศึกษาอย่างรอบด้านขององค์การสหประชาชาติ[1] เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างโทษประหารกับอัตราการฆาตกรรมได้ข้อสรุปว่า “งานวิจัยชิ้นนี้ไม่สามารถค้นพบข้อยืนยันในทางวิทยาศาสตร์ว่า การประหารชีวิตส่งผลในเชิงป้องปรามได้ดียิ่งกว่าการลงโทษจำคุกตลอดชีวิต และไม่น่าเชื่อว่าจะมีข้อยืนยันเหล่านั้นอยู่จริง หลักฐานที่มีอยู่ไม่มีข้อสนับสนุนในเชิงบวกต่อสมมติฐานในแง่การป้องปรามเลย”

          สถิติจากประเทศที่ยกเลิกโทษประหารยังชี้ให้เห็นว่า การไม่ใช้โทษประหารไม่ได้ส่งผลให้อาชญากรรมเพิ่มขึ้น ยกตัวอย่างเช่นในแคนาดา อัตราการฆาตกรรมต่อประชากร 100,000 คนได้ลดลงจากอัตราสูงสุด 3.09 ในปี 2518 ซึ่งเป็นปีก่อนที่จะยกเลิกโทษประหารสำหรับความผิดฐานฆ่าคนตาย เหลือเพียง 2.41 ในปี 2523 และอัตราการฆาตกรรมในแคนาดาในปัจจุบันยังต่ำกว่าช่วงก่อนที่จะยกเลิกโทษประหารมาก[2]

          สาเหตุที่เป็นเช่นนั้นเพราะแนวโน้มและแบบแผนอาชญากรรมในแต่ละประเทศมีส่วนเกี่ยวข้องกับปัจจัยเฉพาะในบริบทที่แตกต่างกันออกไป ไม่มีแนวทางแก้ปัญหาเดียวแบบเบ็ดเสร็จที่จะทำให้เกิดความปลอดภัยต่อสาธารณะในทุกประเทศ นอกจากนี้ยังมีผลการศึกษาอีกหลายชิ้นที่สนับสนุนว่า ความปลอดภัยของสาธารณะและอัตราการเกิดอาชญากรรมนั้นสัมพันธ์โดยตรงกับประสิทธิภาพของกระบวนการยุติธรรมตั้งแต่การปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจ อัยการ ศาล และหน่วยงานระดับชาติอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

          งานวิจัยของสำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNODC) ระบุว่า ปัจจัยสำคัญที่เกี่ยวข้องกับอัตราการเกิดอาชญากรรม คือ ความยากจน ความไม่เท่าเทียมทางเศรษฐกิจและสังคม ความสามารถของรัฐในการบังคับใช้กฎหมาย การรักษาหลักนิติธรรม ต่างเป็นปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อระดับความรุนแรงในประเทศส่วนใหญ่ นอกเหนือจากพฤติการณ์ส่วนบุคคลในแต่ละสถานการณ์ [3]

          ส่วนรายงานภูมิภาคแคริบเบียน ปี 2555 ของสำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติตั้งข้อสังเกตว่า การเพิ่มขึ้นของอาชญากรรมร้ายแรงเกิดขึ้นพร้อมกับการที่รัฐไม่สามารถคลี่คลายคดีและนำผู้กระทำผิดมาลงโทษ นอกจากนี้ ประเทศที่มีกระบวนการนิติบัญญัติอ่อนแอ ไม่สามารถบังคับใช้กฎหมายได้อย่างเสมอภาค หรือ ศาลไม่สามารถตัดสินคดีความอย่างเป็นอิสระ เช่น ผู้กระทำผิดที่มีอิทธิพลทางการเมืองมักไม่ต้องรับโทษ ก็มีแนวโน้มที่จะมีอัตราการฆาตกรรมที่สูงกว่าประเทศอื่น[4]

 

ประเทศไทย: โทษประหารชีวิตกับสถิติอาชญากรรม

          ในประเทศไทย ผู้มีอำนาจตัดสินใจเชิงนโยบายมักกล่าวว่า การใช้โทษประหารชีวิตในคดียาเสพติดและคดีอุกฉกรรจ์ เช่น คดีฆาตกรรม คดีล่วงละเมิดทางเพศ จะช่วยป้องปรามยับยั้งอาชญากรรม แต่จากการรวบรวมสถิติการเกิดอาชญากรรมและการบังคับใช้โทษประหารชีวิตในประเทศไทย ระหว่างปี 2545 – 2554 ก็ไม่พบว่ามีความสัมพันธ์กันอย่างชัดเจนระหว่างการใช้โทษประหารชีวิตกับอัตราการฆาตกรรม กล่าวคือ ระหว่างปี 2545 – 2554 ประเทศไทยมีการประหารชีวิตนักโทษ 17 ราย โดยในปี 2545 มีผู้ถูกประหารชีวิต 11 ราย และในปี 2546 มี 4 ราย การประหารชีวิตครั้งล่าสุดเกิดขึ้นเมื่อเดือนสิงหาคม 2552 ต่อนักโทษชาย 2 รายในคดียาเสพติด ส่วนอัตราการฆาตกรรมในประเทศนั้นโดยเฉลี่ยแล้วลดลงทีละน้อยเกือบทุกปี ยกเว้นปี 2546 ได้เพิ่มขึ้นจาก 7% เป็น 9.8% หนึ่งปีหลังจากที่มีการประหารชีวิต 11 รายในปี 2545 แต่ระหว่างปี 2547 – 2551 ซึ่งไม่มีการบังคับใช้โทษประหารชีวิตนานกว่า 6 ปี อัตราการฆาตกรรมกลับลดลงอย่างต่อเนื่องทุกปี

          นอกเหนือจากคดีความผิดต่อชีวิต เช่น ฆ่าผู้อื่นโดยเจตนาแล้วประเทศไทยยังกำหนดบทลงโทษประหารชีวิตสำหรับคดียาเสพติด โดยมุ่งหมายให้การกำหนดอัตราโทษสูงเป็นเครื่องมือในการยับยั้งป้องปรามการกระทำความผิด อย่างไรก็ตามจากสถิติจำนวนคดีสูงสุดที่ขึ้นสู่การพิจารณาคดีอาญาของศาลยุติธรรมทั่วราชอาณาจักร ระหว่างปี 2549-2555[5] พบว่า ระหว่างปี 2550 – 2555 มีคดียาเสพติดเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของศาลชั้นต้นมากเป็นอันดับแรก อันดับต่อมา คือ คดี จราจรทางบก และการพนัน ส่วนในชั้นการพิจารณาของศาลฎีกานั้น พบว่าคดียาเสพติด และคดีความผิดต่อชีวิตมักมีจำนวนคดีที่เข้าสู่การพิจารณามากเป็นอันดับ 1 หรือ อันดับ 2 ตลอดระยะเวลา 7 ปี (ปี 2549-2555) และศาลก็มีคำพิพากษาลงโทษประหารชีวิตในคดียาเสพติด และคดีความผิดต่อชีวิตอย่างต่อเนื่อง

          สถิติเหล่านี้นำไปสู่คำถามที่ว่าการกำหนดอัตราโทษสูงสุด เช่น โทษประหารชีวิต ทั้งในคดีฆาตกรรมและคดียาเสพติดช่วยยับยั้งการเกิดอาชญากรรมได้จริงหรือ? แม้จะมีผู้โต้แย้งว่าการลงโทษประหารชีวิตจะตัดโอกาสที่ผู้ต้องโทษจะกระทำผิดซ้ำ แต่ก็ไม่มีหลักประกันใดๆ เลยว่า การประหารชีวิตอาชญากรหนึ่งคนจะช่วยยับยั้งป้องกันไม่ให้มีคดีฆาตกรรมหรือคดียาเสพติดรายใหม่เกิดขึ้น ทั้งผู้กำหนดนโยบาย เจ้าหน้าที่รัฐ และภาคประชาชนที่เกี่ยวข้องควรตั้งคำถามและสำรวจข้อเท็จจริงกันอย่างจริงจังและเป็นระบบเพื่อแสวงหาวิธีการป้องกันอาชญากรรมและลดปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดอาชญากรรมที่มีประสิทธิภาพ และสามารถบังคับใช้ได้อย่างมีประสิทธิผล แทนการแก้ปัญหาที่ปลายทาง เช่น การกำหนดโทษประหารชีวิตหรือการบังคับโทษประหารชีวิตเมื่อบุคคลได้กระทำความผิดเสร็จสิ้นแล้ว

 

แนวทางการป้องกันอาชญากรรม

          คณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติได้รับรองแนวปฏิบัติเพื่อป้องกันอาชญากรรม (Guidelines for the Prevention of Crime)[6] และจำแนกแนวทางการป้องกันอาชญากรรมไว้ ดังนี้

          -การป้องกันโดยผ่านการพัฒนาสังคม โดยเน้นการส่งเสริมสวัสดิภาพของบุคคลและการใช้มาตรการด้านสังคม เศรษฐกิจ สุขภาพ และการศึกษา เพื่อสนับสนุนให้เกิดพฤติกรรมในเชิงบวกต่อสังคม โดยมีจุดเน้นเป็นพิเศษที่เด็กและเยาวชน
          -การป้องกันอาชญากรรมโดยอาศัยฐานจากท้องถิ่น การเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมในท้องถิ่นซึ่งส่งผลให้มีการกระทำความผิด ด้วยการพัฒนากิจกรรม ความชำนาญ และส่งเสริมความร่วมมือของสมาชิกในชุมชน 
          -การป้องกันอาชญากรรมตามสถานการณ์ เป็นการป้องกันไม่ให้เกิดอาชญากรรมโดยลดโอกาส เพิ่มความเสี่ยงที่จะถูกจับกุม และลดโอกาสที่จะได้รับประโยชน์ให้เหลือน้อยสุด
          -โครงการส่งเสริมให้ผู้กระทำผิดกลับคืนสู่สังคมที่มีประสิทธิภาพ จะช่วยป้องกันไม่ให้บุคคลหวนกลับไปกระทำความผิดซ้ำ โดยการส่งเสริมให้ผู้กระทำความผิดปรับตัวเข้าไปอยู่ในสังคมได้ ส่งเสริมโอกาสที่ผู้กระทำผิดมีอาชีพสุจริตที่เลี้ยงตนเองและครอบครัวได้ เป็นต้น

          ที่ผ่านมา ข่าวการกระทำผิดซ้ำของผู้เคยต้องโทษหรือกำลังต้องโทษอยู่ในเรือนจำมักเป็นที่สนใจและถูกสื่อมวลชนหยิบยกไปรายงานข่าวอย่างสม่ำเสมอ น้อยครั้งนักที่ผู้รับฟังข่าวสารอย่างเราจะตั้งคำถามว่าเพราะอะไร? ทำไมคุกจึงกลายเป็นโรงเรียนอาชญากร? ทำไมคุกมีไว้ขังคนจน? ทำไมคนรวยหรือผู้มีอิทธิพลมักไม่ต้องรับโทษ? ทำไมปืนและยาเสพติดจึงอยู่ในมือของเยาวชนอย่างง่ายดาย? ทำไมจึงยังมีการจับแพะ? ประเทศไทยมีผู้ต้องขังในเรือนจำทั่วประเทศกว่า 291,727 คน[7] เป็นผู้ต้องขังระหว่างการพิจารณาคดี ร้อยละ 23.55 แต่มีบุคลากรของกรมราชทัณฑ์ ซึ่งรวมทั้งฝ่ายบริหารและผู้ปฏิบัติ จำนวน 10,537 คน[8] ถ้าคิดเฉลี่ยโดยง่ายไม่แยกระหว่างผู้ปฏิบัติกับฝ่ายบริหาร คือ เจ้าหน้าที่ 1 คน ดูแลผู้ต้องขัง 27 คน ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยที่สหประชาชาติกำหนดไว้ คือ เจ้าหน้าที่ 1 คน ต่อผู้ต้องขัง 5 คน อยู่มาก แล้วกระบวนการบำบัดฟื้นฟู แก้ไขพฤติกรรมผู้กระทำผิดจะมีประสิทธิภาพมากน้อยเพียงใด?

หากทุกๆ ฝ่ายทั้งผู้ออกกฎหมาย ผู้บังคับใช้กฎหมาย และประชาชนร่วมกันหาคำตอบให้คำถามที่เกิดจากกระบวนการยุติธรรมอย่างจริงจัง เราจะพบแนวปฏิบัติและนโยบายที่มีประสิทธิภาพเพื่อลดและป้องกันอาชญากรรมได้อย่างยั่งยืนมากกว่ามายาคติที่ว่า “ประหารชีวิตฆาตกรโหดคนนั้นซะ แล้วเหตุร้ายทุกอย่างจะจบสิ้นลง”


[1] Roger Hood, “คำถามเกี่ยวกับโทษประหารและคุณูปการใหม่ของอาชญวิทยาที่มีต่อประเด็นนี้: รายงานต่อคณะกรรมาธิการว่าด้วยการป้องกันอาชญากรรมและความยุติธรรมทางอาญา” (“The question of the death penalty and the new contributions of the criminal sciences to the matter: a report to the United Nations Committee on Crime Prevention and Control”), UN document E/AC.57/1988/CRP.7, 2531.
[2] Roger Hood, “โทษประหาร: ทัศนะในระดับโลก” (“The Death Penalty: A World-wide Perspective”), Oxford, Clarendon Press, ฉบับพิมพ์ครั้งที่สี่, 2551, น. 325
[3] สำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ, “ทำให้ได้ผล – คู่มือสำหรับแนวปฏิบัติเพื่อป้องกันอาชญากรรม” (“Making them work –handbook on crime prevention guidelines”), สิงหาคม 2553
[4] สำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ, “รายงานการพัฒนามนุษย์ในภูมิภาคแคริบเบียนประจำปี 2555” (“Caribbean Human Development Report 2012”), 2555
[5] รายงานสถิติศาลทั่วราชอาณาจักรของสำนักงานศาลยุติธรรม ระหว่างปี 2549-2555 จาก รายงานข้อมูลสถิติกระบวนการยุติธรรม, ศูนย์พัฒนาข้อมูลกระบวนการยุติธรรม http://www.oja.go.th/sites/cjs/Pages/Statistics_Justice_Detail02.aspx , เข้าถึงเมื่อ 20 ธันวาคม 2555
[6] คณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติ มติที่ 2002/13 รับรองเมื่อ 24 กรกฎาคม 2545
[7] ที่มา สถิติผู้ต้องราชทัณฑ์ สำรวจ ณ วันที่ 1 มกราคม 2557 โดย กรมราชทัณฑ์
[8] ข้อมูลอัตรากำลังข้าราชการในสังกัดกรมราชทัณฑ์ สำรวจ ณ วันที่ 1 มีนาคม 2555 จาก http://www.correct.go.th/mis/datacorrect/4_1.html เข้าถึง 13 กุมภาพันธ์ 2557

ป้ายคำ: 

  • โทษประหารชีวิต
  • อาชญากรรมร้ายแรง
  • สิทธิมนุษยชน
  • ยุติโทษประหาร
  • สิทธิในชีวิต
  • การป้องกันอาชญากรรม
  • อาชญวิทยา
  • แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล