Error message

  • Deprecated function: preg_replace(): The /e modifier is deprecated, use preg_replace_callback instead in _filter_pubdlcnt() (line 50 of /home/amnestyo/domains/amnesty.or.th/public_html/old/sites/all/modules/contrib/pubdlcnt/pubdlcnt.module).
  • Deprecated function: preg_replace(): The /e modifier is deprecated, use preg_replace_callback instead in _filter_pubdlcnt() (line 50 of /home/amnestyo/domains/amnesty.or.th/public_html/old/sites/all/modules/contrib/pubdlcnt/pubdlcnt.module).
  • Deprecated function: preg_replace(): The /e modifier is deprecated, use preg_replace_callback instead in _filter_pubdlcnt() (line 50 of /home/amnestyo/domains/amnesty.or.th/public_html/old/sites/all/modules/contrib/pubdlcnt/pubdlcnt.module).
  • Deprecated function: preg_replace(): The /e modifier is deprecated, use preg_replace_callback instead in _filter_pubdlcnt() (line 50 of /home/amnestyo/domains/amnesty.or.th/public_html/old/sites/all/modules/contrib/pubdlcnt/pubdlcnt.module).
  • Deprecated function: preg_replace(): The /e modifier is deprecated, use preg_replace_callback instead in _filter_pubdlcnt() (line 50 of /home/amnestyo/domains/amnesty.or.th/public_html/old/sites/all/modules/contrib/pubdlcnt/pubdlcnt.module).
  • Deprecated function: preg_replace(): The /e modifier is deprecated, use preg_replace_callback instead in _filter_pubdlcnt() (line 50 of /home/amnestyo/domains/amnesty.or.th/public_html/old/sites/all/modules/contrib/pubdlcnt/pubdlcnt.module).
  • Deprecated function: preg_replace(): The /e modifier is deprecated, use preg_replace_callback instead in _filter_pubdlcnt() (line 50 of /home/amnestyo/domains/amnesty.or.th/public_html/old/sites/all/modules/contrib/pubdlcnt/pubdlcnt.module).
  • Deprecated function: preg_replace(): The /e modifier is deprecated, use preg_replace_callback instead in _filter_pubdlcnt() (line 50 of /home/amnestyo/domains/amnesty.or.th/public_html/old/sites/all/modules/contrib/pubdlcnt/pubdlcnt.module).

โรคระบาดทางความคิด เล่นกับชีวิตโรฮิงญา

หมวดหมู่ : บล็อก
ฐปณีย์ เอียดศรีไชย

โรคระบาดทางความคิด เล่นกับชีวิตโรฮิงญา

โดย สมศรี หาญอนันทสุข

          นับเป็นพัฒนาการที่ดีเมื่อในที่สุดหลายประเทศแสดงเจตนาให้ความร่วมมือแก้ปัญหาเพื่อช่วยเหลือคนโรฮิงญาที่อพยพทางเรือ ไม่ว่าจะเป็นโรฮิงญาจากรัฐยะไข่ของประเทศเมียนมา และโรฮิงญาจากคอกซ์บาซา ประเทศบังกลาเทศ หลังจากที่มีกระแสต้านจากบรรดาสื่อออนไลน์อยู่พักใหญ่ รวมถึงโจมตีนักข่าวหญิงของช่อง 3 อย่างไม่ยั้งมือ ที่ทำข่าวบนความเข้าใจด้วยความบริสุทธิใจ หลายคนพยายามหาเหตุผลมาสนับสนุนคำอธิบายต่อสาธารณะเพื่อให้การอพยพดังกล่าวขาดความชอบธรรม และสามารถใช้เป็นเหตุผลผลักดันคนกลุ่มนี้กลับไปโดยไม่ถูกด่าทอ ไม่ว่าจะเป็นเหตุผลเรื่องความมั่นคง การเข้าเมืองผิดกฏหมาย การปะปนกันมาของคนบังกลาเทศ และการไม่รับผิดชอบของ UNHCR ที่ค่ายผู้ลี้ภัยที่บังคลาเทศ ก็ตาม ข้อวิวาทะถกเถียงในสื่อต่างๆยังต้องมีการตรวจสอบ ต้องหาข้อมูลความเป็นจริงที่ชัดเจน มิเช่นนั้นจะถือว่าเป็นการพูดกันเรื่อยเปื่อยไร้หลักฐาน และเป็นประเด็นที่คนไทยนำมาโจมตีกันเอง และสร้างความหนักใจให้กับผู้ทำงานในพื้นที่ที่ได้สัมผัสความเป็นจริงของคนกลุ่มน้อยเป็นอย่างยิ่ง ผู้เขียนหวังว่า การประชุมของอาเซียนและประเทศต่างๆรวม 15 ประเทศในวันที่ 29 พฤษภาคมนี้ จะมีความสำคัญอย่างยิ่งในการหาทางออกร่วมกันอย่างเป็นรูปธรรมเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในประเทศต้นทางด้วย

โรคระบาดทางความคิด

          จากความคิดเห็นใน social media ที่แสดงทัศนะต่างๆนานา ข้อมูลบางอย่างมีความจริงน่าสนใจ แต่หลายอย่างยังเป็นเรื่องของการเสพข้อมูลในลักษณะจินตนาการด้านเดียว มีคนที่รับรู้ปัญหาเรื่องนี้จริงๆอยู่ไม่มากนัก ทำให้กระแสการสร้างความกลัวคนมุสลิม และวิธีคิดแบบ racist กลับมาอีกครั้งหนึ่ง ทุกคนทราบดีว่าสภาพความเป็นจริงของคนมุสลิมในรัฐยะไข่ และคนมุสลิมที่อพยพจากยะไข่ไปพักพิงที่บังกลาเทศนั้น มีความยากลำบากมาก คนพวกนี้เผชิญรากเหง้าของปัญหาจากจุดเดียวกันคือการไม่ได้รับการยอมรับจากรัฐบาลพม่า ขณะที่คนในพม่าเองก็ได้รับอิทธิพลความคิดต่อๆกันมาว่าเป็นกลุ่มคนไม่ดีและปฏิบัติต่อกันเสมือนหนึ่งโรฮิงญาเป็นส่วนเกินของสังคม มาเป็นเวลาหลายสิบปี

          ไม่ว่าแหล่งที่มาทางความคิดเกลียดชังคนโรฮิงญาในประเทศเมียนมาจะมาจากไหน เมื่อใดก็ตาม แต่เท่าที่ทราบขณะนี้ความคิดดังกล่าวได้ระบาดออกสู่ประเทศไทยและบางประเทศในอาเซียนอย่างรวดเร็วทางสื่อสังคมออนไลน์ ทำให้อดคิดไม่ได้ว่าการแสดงอาการรังเกียจผู้อพยพที่แสวงหาที่พักพิงนั้นแท้ที่จริงเป็นความพยายามเดินทางเข้าประเทศที่ไม่ต่างจากการกระทำของบรรพบุรุษเราเองได้กระทำมาแล้วในอดีต สมัยปู่ย่าตายายซึ่งส่วนใหญ่ก็อพยพมาจากที่อื่นเช่นกัน แต่เมื่อมีข่าวอพยพของคนกลุ่มนี้ครั้งใดเราเกิดความหวงแหนในความเป็นไทย มาเลย์ อินโดนีเชีย ฟิลิปปินส์ ขึ้นมาทันที ซึ่งเป็นเรื่องแปลกที่ลักษณะดังกล่าวได้เกิดมาแล้วเมื่อไม่กี่ปีก่อนเมื่อมีแรงงานพม่าเข้ามาทำงานในประเทศไทย มีการวิพากษ์วิจารณ์การแย่งงานคนงานไทยและมีกระแสความเกลียดชังคนพม่าที่เหมือนๆกัน ถึงขนาดที่คนไทยหลายคนหยิบยกความบาดหมางในประวัติศาสตร์ออกมาตอกย้ำกันไปมา และมีการกระทบกระทั่งกันหลายครั้ง แต่มาในบัดนี้เมื่อเราขาดแคลนแรงงานในประเทศ เรากลับต้องการคนพม่ามาทำงานประเภทที่คนไทยไม่อยากทำมากขึ้น เจ้าของโรงงานหลายแห่งพูดว่า หากไม่มีคนพวกนี้เราคงทำธุรกิจไม่ได้ ต้องปิดกิจการลง และเมื่อใดที่แรงงานพม่ากลับประเทศไปทำงานที่เขตอุตสาหกรรมทวายและที่อื่นๆในอนาคต เศรษฐกิจไทยจะต้องได้รับผลกระทบมหาศาล เมื่อเป็นเช่นนี้เราจะต้องหาแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านอื่นๆมาทดแทนมากขึ้น ที่อาจจะรวมถึงแรงงานโรฮิงญาด้วยหรือไม่

ความเหมือนและความต่าง

          การอพยพออกจากพม่าของคนโรฮิงญามีความแตกต่างจากกรณีผู้ลี้ภัยในที่อื่นๆโดยสิ้นเชิง และไม่มีเหตุผลใดที่คนเหล่านี้จะปล่อยให้ตายกลางทะเลจากข้อกล่าวหาที่ไม่เป็นความจริง หรือเอาไปเปรียบเทียบกับคนเข้าเมืองผิดกฏหมายทั่วไป นอกจากไม่ได้รับการยอมรับของคนกลุ่มใหญ่ในประเทศ รวมทั้งกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีปัญหากับรัฐบาลพม่าก็ยังรังเกียจคนกลุ่มน้อยโรฮิงญาแล้ว ยังไม่มีองค์กรท้องถิ่นใดทำหน้าที่ให้การศึกษาคนในประเทศหรือชี้ให้เห็นถึงความเป็นไปได้ของการอยู่ร่วมกันโดยสันติ รวมทั้งองค์กรประชาสังคมในท้องถิ่นต่างๆที่ประกาศตัวว่าทำงานเพื่อเรียกร้องความเสมอภาค ประชาธิปไตยในประเทศ ก็ละเลยคนกลุ่มนี้เช่นกัน สำหรับนานาชาติที่เพ่งเล็งไปที่นางซูจี ผู้นำสตรีพรรค NLD ผู้น่าจะเข้าใจเรื่องมนุษยธรรม ความเสมอภาค ได้ดีกว่าคนอื่น เพราะได้ใช้ชีวิตเติบโตในประเทศอังกฤษ และได้รับการศึกษาจากประเทศที่เรียกว่าเคารพสิทธิมนุษยชนมากสุดประเทศหนึ่งของโลก แต่เธอก็ยังไม่มีท่าทีอะไรออกมาชัดเจน ทั้งที่หลายคนลุ้นจนตัวโก่งว่าเมื่อไหร่เธอจะกล้าพูดเรียกร้องให้คนพม่ายอมรับคนกลุ่มนี้เสียที แสดงให้เห็นถึงการยืนหยัดเหมือนกับที่อดีตประธานาธิปดีเนลสัน แมนเดลา ของอัฟริกาใต้ได้ต่อสู้ให้คนผิวดำได้รับสิทธิอย่างเท่าเทียมกับคนผิวขาวมาแล้ว หรือเป็นเพราะความหวงแหนฐานคะแนนเสียงที่กำลังกดทับให้นางซูจีไม่กล้าพูดให้คนยอมรับความจริง เพราะคะแนนเสียงส่วนใหญ่ที่เลือกเธอไม่ยอมรับคนมุสลิมโรฮิงญา

ชื่อเสียงประเทศไทยต่อผู้ลี้ภัย

          แทบไม่ต้องพูดถึงเลยว่าประเทศไทยมีชื่อเสียงดีมากต่อการรับผู้ลี้ภัยจากประเทศเพื่อนบ้านที่หนีภัยสงคราม การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ และภัยจากการปราบปรามทางการเมือง มาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นการดูแลผู้ลี้ภัยชาวเขมร ลาว เวียดนาม พม่า ที่ไม่สามารถมีชีวิตอยู่ในสถานการณ์ความรุนแรงในประเทศของตน ไทยได้ให้ที่พักพิงประเทศเพื่อนบ้านดังกล่าวโดยอยู่ภายใต้การดูแลของสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) และองค์กรช่วยเหลืออื่นๆอีกหลายองค์กร ความกลัวว่าเมื่อมีคนเหล่านี้เข้ามาในประเทศไทยในฐานะผู้ลี้ภัยแล้วจะเป็นภาระผูกพันที่เบียดบังงบประมาณของชาติในระยะยาว เป็นการสร้างความกลัวที่เกินเหตุ หลายคนคงไม่ทราบว่าการใช้งบประมาณในการดูแลผู้ลี้ภัยในประเทศไทยส่วนใหญ่มาจากการลงขันขององค์กรระหว่างประเทศเกือบทั้งหมด และองค์กรที่ว่านี้ได้บริหารจัดการดำเนินการเองโดยตรงไม่ได้ผ่านการบริหารจัดการ หรือเป็นภาระให้กับประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอาหาร การจัดส่ง ยารักษาโรค การสร้างที่พักพิง ประเทศไทยจะใช้งบประมาณแผ่นดินเฉพาะในส่วนของเงินเดือนอาสาสมัคร ที่ดูแลควบคุมพื้นที่เท่านั้น

สำหรับกรณีโรฮิงญา หากประเทศไทยและอาเซียนไม่ให้ที่พักพิง คงจะลำบาก ด้วยเหตุผลหลักหลายประการ ดังนี้

1. เป็นคนกลุ่มใหญ่ที่ประเทศต้นสังกัดไม่ยอมรับให้เป็นพลเมืองของตน หรือเป็นคนไร้รัฐ (stateless)
2. มีมิติความขัดแย้งทางศาสนา (พุทธ/มุสลิม) ที่เป็นเรื่องอ่อนไหวอย่างยิ่ง สุ่มเสี่ยงต่อความขัดแย้งที่นำมาสู่ความรุนแรงได้ทุกขณะ 
3. เป็นกลุ่มคนที่ถูกจำกัดสิทธิขั้นพื้นฐานทุกประการ ไม่ได้รับการยอมรับจากคนกลุ่มใหญ่ รวมถึงถูกหลอกใช้ในทางการเมือง
4. ไม่มีองค์กรในประเทศที่เข้มแข็งพอที่จะพิทักษ์ปกป้องเรียกร้องสิทธิความเป็นคนที่เท่าเทียมให้ และภาคประชาสังคมอ่อนแอ

          หากคิดกันให้ดี คนพวกนี้กำลังถูกกดทับทางสังคมหลายชั้นทั้งทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม เป็นกลุ่มคนที่ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนซ้ำซากมาเป็นเวลานาน ผู้เขียนยังเชื่อว่าการผลักดันกลับประเทศพม่าจะกระทำได้ต่อเมื่อมีหลักประกันจากประเทศต้นสังกัดที่ชัดเจน ลำพังเพียงแค่วาจาที่ลั่นจากรัฐบาลพม่าว่าจะยอมรับให้ผู้อพยพทางเรือเหล่านี้กลับประเทศได้ ยังไม่น่าจะเป็นการรับรองที่ถาวร ประชาคมอาเซียนควรถือโอกาสนี้กดดันให้มีการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญให้พม่ายอมรับความเป็นประชาชนของคนโรฮิงญาเยี่ยงคนพม่าอื่นๆในประเทศ ดังเช่นได้รับสิทธิในถิ่นฐานที่อยู่ การศึกษา การรักษาพยาบาล ได้รับเสรีภาพในการเดินทางทั้งในและนอกประเทศ มีสิทธิทางการเมือง เป็นต้น ไม่เช่นนั้นการผลักดันกลับไปจะเป็นการไม่เคารพหลักการ “ไม่ส่งกลับ” หรือ non-refoulement ที่คำนึงถึงการไม่เคลื่อนย้ายบุคคลไปยังสถานที่ใดซึ่งทำให้เสี่ยงต่อชีวิตหรือเสรีภาพของพวกเขา รวมถึงการไม่ส่งกลับประเทศบ้านเกิดด้วย


URGENT ACTION! ร่วมกันเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีมาเลเซียในฐานะประธานอาเซียน เร่งบรรเทาสถานการณ์ที่เสี่ยงต่อการสูญเสียชีวิตเหล่านี้ เพื่อให้ผู้ลี้ภัยในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้รับการคุ้มครอง