Error message

  • Deprecated function: preg_replace(): The /e modifier is deprecated, use preg_replace_callback instead in _filter_pubdlcnt() (line 50 of /home/amnestyo/domains/amnesty.or.th/public_html/old/sites/all/modules/contrib/pubdlcnt/pubdlcnt.module).
  • Deprecated function: preg_replace(): The /e modifier is deprecated, use preg_replace_callback instead in _filter_pubdlcnt() (line 50 of /home/amnestyo/domains/amnesty.or.th/public_html/old/sites/all/modules/contrib/pubdlcnt/pubdlcnt.module).
  • Deprecated function: preg_replace(): The /e modifier is deprecated, use preg_replace_callback instead in _filter_pubdlcnt() (line 50 of /home/amnestyo/domains/amnesty.or.th/public_html/old/sites/all/modules/contrib/pubdlcnt/pubdlcnt.module).
  • Deprecated function: preg_replace(): The /e modifier is deprecated, use preg_replace_callback instead in _filter_pubdlcnt() (line 50 of /home/amnestyo/domains/amnesty.or.th/public_html/old/sites/all/modules/contrib/pubdlcnt/pubdlcnt.module).
  • Deprecated function: preg_replace(): The /e modifier is deprecated, use preg_replace_callback instead in _filter_pubdlcnt() (line 50 of /home/amnestyo/domains/amnesty.or.th/public_html/old/sites/all/modules/contrib/pubdlcnt/pubdlcnt.module).
  • Deprecated function: preg_replace(): The /e modifier is deprecated, use preg_replace_callback instead in _filter_pubdlcnt() (line 50 of /home/amnestyo/domains/amnesty.or.th/public_html/old/sites/all/modules/contrib/pubdlcnt/pubdlcnt.module).
  • Deprecated function: preg_replace(): The /e modifier is deprecated, use preg_replace_callback instead in _filter_pubdlcnt() (line 50 of /home/amnestyo/domains/amnesty.or.th/public_html/old/sites/all/modules/contrib/pubdlcnt/pubdlcnt.module).
  • Deprecated function: preg_replace(): The /e modifier is deprecated, use preg_replace_callback instead in _filter_pubdlcnt() (line 50 of /home/amnestyo/domains/amnesty.or.th/public_html/old/sites/all/modules/contrib/pubdlcnt/pubdlcnt.module).

พลังสีขาวร่วมสร้างเกราะป้องกันภัยค้ามนุษย์

หมวดหมู่ : บล็อก
ภาพ: ไอซีที ศิลปากร

พลังสีขาวร่วมสร้างเกราะป้องกันภัยค้ามนุษย์

เรื่อง: จริญญา ศรีวัฒนวรัญญู, เกศราพร เจือจันทร์, โชติกา กนิษฐนาคะ

 

"ประเทศไทยเป็นประเทศต้นทาง ปลายทาง และทางผ่านสำหรับการค้าผู้ชาย ผู้หญิงและเด็กเพื่อบังคับใช้แรงงานและการบังคับค้าประเวณี ในประเทศไทยมีแรงงานอพยพประมาณสามถึงสี่ล้านคน โดยส่วนใหญ่มาจากประเทศเพื่อนบ้าน ได้แก่ พม่า ลาว และเขมร

นอกจากเหยื่อการค้ามนุษย์ชาวไทยแล้ว เชื่อว่าแรงงานต่างชาติบางส่วนถูกบังคับ ขู่เข็ญหรือล่อลวงมาเพื่อการแสวงประโยชน์บังคับใช้แรงงานหรือในธุรกิจทางเพศ

เหยื่อการค้ามนุษย์เพื่อการบังคับใช้แรงงานในไทยจำนวนหนึ่งถูกแสวงประโยชน์ในอุตสาหกรรมประมง อุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับการประมง โรงงานต่างๆ และงานรับใช้ตามบ้าน เหยื่อบางคนถูกบังคับให้ขอทานตามถนน

การค้ามนุษย์เพื่อบังคับค้าประเวณียังคงเป็นปัญหาสำคัญในธุรกิจทางเพศที่กว้างขวางมากของประเทศไทย...”

ข้อความบางส่วนจากรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ประจำปี พ.ศ. 2558  (Trafficking in Persons Report 2015 หรือ TIP Report 2015) โดยสำนักงานเพื่อการตรวจสอบและต่อสู้กับการค้ามนุษย์ ปรากฏอยู่ในหน้าเว็บไซต์สถานทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย ขณะที่รายนามประเทศไทยยังคงถูกจัดไว้ในบัญชีกลุ่มที่ 3 (Tier 3) ซึ่งเป็นกลุ่มประเทศที่มีสถานการณ์ค้ามนุษย์ระดับเลวร้ายที่สุดติดต่อกันเป็นปีที่สอง

 

หลังฉากสังขละบุรีเมืองแห่งขุนเขาและสายหมอก       

แม้จะสั่งสมชื่อเสียงจากการเป็นจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวสุดฮิป หากอีกมุมหนึ่ง คนทำงานปราบปรามการค้ามนุษย์ต่างรู้กันดีว่า อำเภอสุดพรมแดนไทย-พม่าใน จ.กาญจนบุรี แห่งนี้เป็นหนึ่งในพื้นที่จับตาเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด เนื่องจากมีชัยภูมิติดกับด่านเจดีย์สามองค์และเขตพญาตองซูของพม่า ประกอบกับภูมิประเทศที่เป็นเทือกเขาสูงสลับซับซ้อนเอื้อต่อการลักลอบเคลื่อนย้ายแรงงานต่างด้าวสู่ตัวเมืองกาญจนบุรีก่อนจะกระจายสู่จังหวัดอื่นๆ

ลึกลงไปภายใต้ขุนเขาและธรรมชาติอันสงบงาม สังขละบุรี คือ เมืองหน้าด่านของขบวนการค้ามนุษย์ดีๆ นี่เอง

พ.ต.ท.ฐิติยุทธ บรรจงธุรการ สารวัตรป้องกันและปราบปราบการค้ามนุษย์ สังขละบุรี เปิดเผยว่า ส่วนใหญ่การปราบปรามการค้ามนุษย์ในสังขละบุรีจะเป็นการสืบหาขบวนการขนแรงงานต่างด้าว โดยมาตรการที่ทำเป็นประจำคือการตั้งด่านจับตามจุดตรวจต่างๆ ในพื้นที่เสี่ยง ซึ่งสถิติเดือนกันยายนที่ผ่านมา สามารถจับกุมได้ 17-18 ราย

“เราจะตามรถแล้วจับคนขน บางทีก็ขนต่างด้าวเข้ามา 5-7 คนมักเป็นแรงงานเถื่อนหรือพวกหลบหนีเข้าเมืองมีทั้งชายหญิง และเด็กวัย 15-16 ปีพวกนี้จะไม่มีบัตรอะไรเลย อีกกลุ่มที่ตั้งด่านแล้วเจอ คือแรงงานต่างด้าวที่มีบัตรสีชมพู พวกนี้จะมีความผิด เพราะย้ายที่ทำงานโดยไม่ขออนุญาตออกนอกพื้นที่ แต่พวกหลังนี้ส่วนใหญ่จะตักเตือน ส่วนพวกค้ามนุษย์โสเภณีที่นี่ไม่มี

พ.ต.ท.ฐิติยุทธกล่าวต่อไปว่าหากเปรียบเทียบสถิติจับกุมกับช่วงก่อนหน้านี้ถือว่าน้อยลง เนื่องจากรัฐบาลมีคำสั่งให้ตรวจตามแนวชายแดนอย่างเข้มงวดมากขึ้น

“คสช. มีนโยบายให้ตรวจเข้มตามแนวชายแดน แต่เดิมพวกนี้จะแอบเข้ามาทางรถยนต์ ตามเส้นทางภูเขา เช่น จากสังขละฯ ไปเจดีย์สามองค์จะมี 4 ด่าน เวลาจะถึงด่านเขาจะอ้อมไปทางภูเขาข้างหลัง แล้วมีคนมารับเป็นช่วงๆ ไม่ก็ใช้มอเตอร์ไซต์ขี่ไปทีละคนสองคน มีบางรายขึ้นรถกระบะที่ต่อทึบๆ ไว้ใส่คนข้างหลัง เคยจับได้หลายครั้ง”

นายตำรวจผู้นี้ยังอธิบายถึงเส้นทางของขบวนการค้ามนุษย์ในพื้นที่ว่าเริ่มต้นจากสังขละบุรีไปทางตัวเมืองกาญจนบุรี จากนั้นส่วนใหญ่จะมุ่งเข้า จ.สมุทรสาคร กรุงเทพมหานคร มีบ้างที่ลงใต้ไปนครปฐมบ้าง ตอนนี้ถือว่าสถานการณ์การค้ามนุษย์บริเวณจังหวัดชายแดนที่มีปัญหามากที่สุดจะอยู่ที่ อ.แม่สอด จ.ตาก กับ จ.ระนอง ที่ อ.สังขละบุรี ถือว่าพบบ้างประปราย

“ที่นี่มีประชากรเป็นคนต่างด้าวมากกว่าคนไทย ปัญหาการค้ามนุษย์ การลักลอบเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมาย การขอใบอนุญาตทำงานจึงสะสมมานาน บางครั้งเกิดจากช่องโหว่ของกฎหมาย หรือผู้มีอิทธิพลในพื้นที่เอง ล่าสุดเมื่อเดือนก่อนก็เพิ่งจับกุมไป อ้างว่าเป็นมูลนิธิดูแลเด็กด้อยโอกาส แต่จากสภาพความเป็นอยู่ของเด็กเหมือนเล้าไก่ ถือเป็นการค้ามนุษย์เอาคนมาบังหน้าแล้วเอาผลประโยชน์สังขละบุรีเป็นเมืองชายแดนที่มีมูลนิธิต่างๆเยอะมาก มีเกือบสี่สิบแห่ง ส่วนใหญ่ขอทุนดำเนินงานจากต่างประเทศ แต่ที่จดทะเบียนและได้รับใบอนุญาตให้จัดตั้งได้จริงๆ มีแค่ 3 แห่ง ที่เหลือเป็นมูลนิธิเถื่อนหมด”

จริพา บางสวย นักพัฒนาสังคมชำนาญการ สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดกาญจนบุรี เปิดเผยถึงสถานการณ์การค้ามนุษย์ว่าปัจจุบันกำลังอยู่ในช่วงเฝ้าระวังพื้นที่ตามแนวตะเข็บชายแดน

“สังขละบุรีมีช่องทางการเดินเท้าที่แรงงานพม่าสามารถเข้ามาทำงานในประเทศไทยได้แบบไปเช้าเย็นกลับ ประมาณวันละ 5,000-8,000 คน ซึ่งในส่วนนี้เรายังไม่ได้เข้าไปดูเรื่องแรงงานผิดกฎหมาย ส่วนในเรื่องแรงงานที่เข้าข่ายค้ามนุษย์นั้น ยังไม่มีข้อมูลที่ชัดเจน แต่คาดว่าน่าจะมีบ้าง เพราะเจ้าหน้าที่ยังไม่ได้เข้าไปสำรวจเชิงลึก โดยเราจะมีศูนย์ปฏิบัติการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ประจำจังหวัดที่ทำหน้าที่เฝ้าระวังโดยเฉพาะเด็กตามรอยตะเข็บชายแดน หรือเด็กต่างด้าว ซึ่งมักจะมาจากครอบครัวที่ขาดโอกาส จึงเป็นกลุ่มเสี่ยงเบอร์หนึ่งของการค้ามนุษย์”

นอกจากนี้ นักพัฒนาสังคมชำนาญการ สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดกาญจนบุรี ยังเปิดเผยต่อไปว่า พื้นที่บ้านพุน้ำร้อน ต.บ้านเก่า อ.เมือง ถือเป็นช่องทางใหม่ที่คนพม่าเข้ามาเยอะที่สุด เพราะกำลังเข้าสู่เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนกาญจนบุรี ดังนั้น นอกจากสังขละบุรีแล้ว พื้นที่นี้ก็น่าจับตามองเช่นกัน

 

พลังสีขาว ต้านค้ามนุษย์

นอกจากหน่วยงานภาครัฐในพื้นที่ที่มีการประชุมและสนธิกำลังป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์อยู่เนืองๆ แล้ว ในพื้นที่ที่ห่างไกลจากตัวเมืองถึง 215 กิโลเมตรอย่าง ต.หนองลู อ.สังขละบุรี ยังมีกลุ่มเยาวชนที่อุทิศตนเพื่อมิให้คนในพื้นที่เสี่ยงต่อการตกเป็นเหยื่อขบวนการค้ามนุษย์ ด้วยการทำกิจกรรมรณรงค์เรื่องสิทธิเด็กในนามของชมรม “เด็กดีคลับ”

“เราเป็นแค่เด็ก เราปกป้องเค้าไม่ได้หรอกแต่เราเชื่อว่าถ้าเด็กคนอื่นๆและผู้ปกครองของพวกเขาเข้าใจเรื่องสิทธิ เขาจะสามารถปกป้องตัวเองได้ อย่างน้อยก็จะไม่พาตัวเองไปตกอยู่ในสถานการณ์เสี่ยง”

เก้า หรือนางสาวเสาร์วิตรี ปุณณะการี เด็กสาววัย 18 นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนอุดมสิทธิศึกษาอธิบายถึงสิ่งที่เธอและเพื่อนๆทำด้วยน้ำเสียงเชื่อมั่น

เก้าเล่าว่าปัจจุบันแกนนำหลักของชมรมมี 27 คน ส่วนสมาชิกอื่นๆ นั้นเป็นเด็กๆ เกือบทั้ง อ.สังขละบุรี โดยแกนนำจะมีหน้าที่จัดค่ายสันทนาการให้ความรู้กับเด็กนักเรียนแต่ละโรงเรียน

ก่อนทำค่ายเก้าและเพื่อนในทีมจะรวมตัวกันวางแผนคิดกิจกรรมที่จะให้น้องๆ ทำก่อนเสมอจากนั้นจึงแบ่งหน้าที่รับผิดชอบในส่วนที่ถนัด ซึ่งมีทั้งฝ่ายสันทนาการ ให้ความรู้ ฝ่ายอาหารและเครื่องดื่ม ช่วงเวลา3 วัน 2 คืนของการจัดค่ายเป้าหมายหลักของเด็กดีคลับคือพูดเรื่องสิทธิเด็กทั้ง 4 ข้อ ได้แก่ สิทธิที่จะมีชีวิตรอด สิทธิที่จะได้รับการพัฒนา สิทธิที่จะได้รับการปกป้องคุ้มครอง และสิทธิในการมีส่วนร่วม ให้น้องได้เข้าใจ รวมถึงให้ความรู้กับพวกเขาในเรื่องทักษะการใช้ชีวิต เช่น การเอาตัวรอดจากภัยเสี่ยงต่างๆ เพื่อป้องกันการถูกล่อลวง

“จะบอกว่าน้องเข้าใจ 100 เปอร์เซ็นต์ก็ไม่ได้ ตีว่าประมาณ 80 แล้วกัน เราวัดจากการที่น้องๆเค้าไปพูดต่อไปคุยกับพ่อแม่ แล้วเราอยู่ในพื้นที่ สมมุติมีพวกหนูคนนึงอยู่ในซองกาเลีย แล้วมีน้องที่เคยเข้าค่ายอยู่ที่นั่นเค้าก็จะไปเล่า เราอยู่ในนั้นเราก็รู้ว่าผู้ปกครองเขารับรู้”

ไม่ง่ายนักที่จะทำให้เด็กๆ เข้าใจว่าทำไมพวกเขาถึงต้องตระหนักในสิทธิของตนเองการจัดค่ายของกลุ่มเด็กดีคลับจึงไม่ใช่แค่บอกแล้วให้น้องจำ แต่เป็นการทำกิจกรรมที่เด็กทุกคนจะได้มีส่วนร่วมในการป้องกันเฝ้าระวังปัญหาในชุมชน ด้วยการให้พวกเขาระดมความคิดเขียนโครงการเล็กๆ ที่สนใจอยากจะร่วมแก้ปัญหาแล้วสังเกตว่าเด็กแต่ละคนมีความคิดหรือการวางแผนเป็นอย่างไร หลังจากนั้นจึงจะมีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันในวันสุดท้ายของการปิดค่าย

ไม่เพียงแต่สาระความรู้ที่จะต้องถ่ายทอดสู่น้อง ขึ้นชื่อว่าค่ายนั้นยังจำเป็นต้องมีช่วงเวลาสันทนาการ โดยแกนนำจะให้น้องทำกิจกรรมสลับกับการเล่นเกมส์เสริมสร้างความมั่นใจและกล้าแสดงออก หล่อหลอมภาวะความเป็นผู้นำในตัวเด็กให้กล้าที่จะคิดและทำในสิ่งที่สร้างสรรค์ ซึ่งจากการพูดคุยกับประธานชมรมและแกนนำคนอื่นๆ ทำให้รู้ว่าค่ายได้บรรลุวัตถุประสงค์ในการสร้างผู้นำเยาวชน

นอกจากจัดค่ายกลุ่มเด็กดีคลับยังเดินรณรงค์แจกแผ่นพับความรู้ในช่วงงานเทศกาลต่างๆ ของอำเภอ บางครั้งก็ลงพื้นที่ไปพูดคุยกับชาวบ้านด้วยตัวเอง และเอาสติ๊กเกอร์เบอร์โทรแจ้งเบาะแสค้ามนุษย์ไปแปะตามแต่ละบ้านสิ่งเหล่านี้ คือ สิ่งที่เก้าและเพื่อนร่วมชมรมร่วมกันทำติดต่อกันมาเป็นเวลาหลายปี

“อยากเปลี่ยนทัศนคติของผู้ปกครองว่าถึงเราเป็นแค่กลุ่มเด็กแต่เรายังต่อสู้เพื่อเรื่องนี้นะ อยากให้เขาให้ความสำคัญกับเรา เด็กอย่างเรายังทำ แล้วทำไมเขาถึงไม่มองให้มันกว้างกว่านี้”

จากประสบการณ์การทำกิจกรรมเพื่อชุมชนทำให้พวกเขารับรู้และเข้าใจปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่บ้านเกิดว่าการค้ามนุษย์ไม่ได้เกิดเพราะมีแค่คนค้า ลูกค้า หรือนายหน้าแต่เกิดเพราะผู้ปกครองของเด็กส่วนใหญ่ที่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์หรือคนที่มีบัตรศูนย์(ไม่มีสถานะทางทะเบียน) มักจะให้ลูกลาออกจากโรงเรียนเพื่อออกไปหางานทำ เพราะเชื่อว่าไม่สามารถเรียนต่อได้หากไม่มีบัตรไทย ทั้งที่เด็กทุกคนมีสิทธิที่จะได้รับการศึกษา แต่กลับมีอีกหลายครอบครัวที่ไม่รู้ถึงสิทธิที่ตนเองควรจะได้รับ

ความเข้าใจที่ถูกต้องของผู้ปกครองจึงเป็นปราการที่หนาแน่นที่สุดในการปกปักษ์คุ้มครองเด็กๆจากภัยค้ามนุษย์

เด็กหญิงวัยสิบแปดพูดถึงความสำเร็จในการดำเนินกิจกรรมที่ผ่านมาให้ฟังว่า แกนนำในชมรมมีหลากหลายเชื้อชาติทั้งพม่า ลาว มอญ กะเหรี่ยงจึงง่ายต่อการสื่อสารให้คนในแต่ละหมู่บ้านเข้าใจในภาษาของพวกเขาเอง ซึ่งทางกลุ่มเด็กดีคลับได้มีการติดตามผลการเปลี่ยนแปลง โดยสังเกตการณ์ในพื้นที่ของตนเอง จนทราบว่ามีแรงงานเยาวชนที่เข้าไปทำงานในเมืองน้อยลง โดยเฉพาะฝั่งมอญ เพราะพวกเขากลัวว่าตัวเองจะตกเป็นเหยื่อ ทำให้ทุกคนต่างก็ระวังตัวมากขึ้น

ฃอีกไม่กี่เดือนต่อจากนี้เก้าและเพื่อนๆในชมรมส่วนหนึ่งจะเปลี่ยนสถานะตัวเองจากนักเรียนไปเป็นนักศึกษา เมื่อถามถึงความฝัน เก้าบอกเราอย่างมั่นใจว่าเธออยากเป็นครู

“มีหลายคนสงสัยว่าเราทำกิจกรรมต่างๆเกี่ยวกับการต่อต้านขบวนการค้ามนุษย์ ทำไมถึงไม่เรียนกฎหมายล่ะ แต่หนูมองว่า ถ้ามีครูในชุมชนที่เป็นคนในพื้นที่จริงๆ เขาจะเข้าใจว่าเด็กแต่ละคนล้วนมีปัญหา เขาจะรู้ว่าต้องทำอย่างไรไม่ให้ปัญหาเหล่านั้นทำให้เด็กๆ ต้องตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์”

 

เด็กดีคลับกิจกรรมดีๆที่ผู้ใหญ่หนุน

แม้ว่าชมรมเด็กดีคลับจะขับเคลื่อนด้วยพลังบริสุทธิ์ของเด็กๆ ในพื้นที่ หากแรกเริ่มเดิมที โครงการนี้เกิดขึ้นภายใต้โครงการต่อต้านการค้ามนุษย์ของมูลนิธิศุภนิมิตรแห่งประเทศไทย ซึ่งจัดขึ้นเพื่อให้แกนนำเยาวชนสามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายบางกลุ่มที่เป็นกลุ่มเสี่ยงได้อย่างใกล้ชิด

อาดูร จิตตะวัฒนา หรือที่เด็กๆ ในชมรมเด็กดีคลับเรียกกันติดปากว่า “พี่อาร์ม” เจ้าหน้าที่มูลนิธิศุภนิมิต สังขละบุรี ผู้คอยดูแลและเป็นที่ปรึกษาให้กับเด็กๆตั้งแต่รุ่นหนึ่งจนถึงปัจจุบันคือรุ่นที่ห้าเล่าว่า นอกจากตัวกิจกรรมจะสร้างแรงกระเพื่อมแก่คนในพื้นที่และตัวปัญหาการค้ามนุษย์แล้ว ยังสร้างความเปลี่ยนแปลงแก่ตัวเด็กๆผู้เป็นเรี่ยวแรงสำคัญด้วย

“เด็กที่เข้ามาทำกิจกรรมตรงนี้ เราเห็นว่าเขามีวิธีคิดที่เปลี่ยนไป เช่น จากที่ส่วนใหญ่ไม่คิดเรียนต่อเมื่อจบจากสังขละฯ เพราะไม่มีสัญชาติเค้าเลยไม่หวัง มีความคิดแบบเรียนไปก็เท่านั้น แต่เมื่อได้ลงพื้นที่ทำกิจกรรมต่างๆ ได้ถ่ายทอดสิ่งที่รู้ให้กับคนในชุมชน เขาก็เริ่มมองเห็นศักยภาพของตัวเอง ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการเฝ้าระวังปัญหา กลายเป็นว่าตอนนี้ไม่มีใครที่ไม่อยากเรียนต่อเด็กชมรมหลายคนยอมหลบหนีเข้าเมืองเพื่อที่จะไปสมัครเรียนที่ต่างจังหวัด เพราะทางอำเภอไม่อนุญาตให้สมัครไง มันค่อนข้างยาก ขั้นตอนเยอะ”

พลังเยาวชนที่เข้มแข็งขึ้นในพื้นที่สังขละบุรีจึงเป็นผลผลิตที่น่าภาคภูมิใจของโครงการ

 

การค้ามนุษย์ปัญหาที่ต้องร่วมใจกัน

สถานการณ์ปัญหาการค้ามนุษย์ในอำเภอสังขละบุรีมีแนวโน้มที่ดีขึ้น ทว่าสำหรับคนในพื้นที่แล้ว รู้ดีว่าจุดเริ่มต้นของการถูกหลอกลวงเข้าสู่กระบวนการค้ามนุษย์มักเกิดจากการย้ายถิ่นฐานหรือการเดินทางอย่างไม่ถูกกฎหมายของกลุ่มคนไร้สัญชาติหรือคนต่างด้าวที่ตั้งใจลักลอบเข้าไทยเนื่องจากต้องการยกระดับคุณภาพชีวิตของตนและครอบครัวให้พ้นจากความยากจน โดยมีค่าแรงในไทยเป็นจุดดึงดูดให้มาทำงานทั้งนี้ แหล่งข่าวในพื้นที่ระบุว่า ค่าแรงขั้นต่ ำ300 บาทต่อวัน สามารถนำไปแลกเปลี่ยนได้ 10,858 จ๊าดพม่าโดยประมาณ

การให้ความรู้และอธิบายความสำคัญของการใช้เอกสารสิทธิต่างๆจึงเป็นอีกหนึ่งภารกิจของผู้เกี่ยวข้องในการป้องกันและช่วยมิให้เพื่อนมนุษย์ด้วยกันต้องตกเป็นเหยื่อของขบวนการค้ามนุษย์นอกเหนือจากการใช้กำลังตำรวจเข้าปราบปรามจับกุม

สมพงค์ สระแก้ว ผู้อำนวยการมูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน ซึ่งเคยลงพื้นที่สำรวจสภาวการณ์ของเด็กๆในอำเภอสังขละบุรี เสนอความคิดเห็นในการแก้ไขปัญหาค้ามนุษย์ว่าภาครัฐจะต้องกำหนดนโยบายที่เน้นบทบาทของชุมชนท้องถิ่นให้มากขึ้น

“รัฐควรทำระบบ child protection หรือการคุ้มครองเด็กชายแดนโดยมีการวิเคราะห์กลุ่มเสี่ยงว่ามีกลุ่มไหนบ้าง ด้วยการสร้างเครือข่ายเฝ้าระวังปัญหา โดยใช้ระบบจิตอาสาจากชาวบ้านในพื้นที่ เพราะส่วนใหญ่เขาจะมองปัญหานี้แบบตัวใครตัวมัน แต่เด็กถูกละเมิดถูกกระทำมันจะมองแบบนี้ไม่ได้ ลำพังหน่วยงานรัฐเองอยู่ไกลก็อาจจะต้องสร้างกลไกที่เกี่ยวข้องกับหลายๆหน่วยงานในท้องถิ่นเพื่อให้การแก้ไขเป็นไปอย่างมีระบบ”

การจะแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ได้อย่างได้ผลตามทัศนะของสมพงค์ จึงต้องอาศัยพลังของชุมชนเข้าหนุนเสริม เป็นการเพิ่มพลังให้ชุมชนลุกขึ้นมาแก้ไขและป้องกันปัญหาด้วยตัวของพวกเขาเอง  

 

บทส่งท้าย

แสงสุดท้ายของวันฉาบไล้สะพานมอญและแม่น้ำซองกาเรียจนเป็นประกายทองระยิบระยับ เด็กชายเชื้อสายมอญจำนวนไม่น้อยกำลังสนุกสนานกับการกระโดดน้ำแลกเงินจากนักท่องเที่ยว เสียงหัวเราะดังสลับกับเสียงน้ำแตกกระจายถัดไปไม่ไกล ชายชาวประมงกับเรือลำน้อยกำลังเดินทางกลับบ้านผ่านสายธารที่เปรียบเสมือนเส้นเลือดใหญ่หล่อเลี้ยงทุกชีวิตที่นี่

สังขละบุรียังคงบริสุทธิ์งดงามจนยากที่จะเชื่อว่าภายใต้ความงดงามและเงียบสงบต้นทางการค้ามนุษย์เกิดขึ้น ณ ที่แห่งนี้

แม้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องจะดำเนินมาตรการปราบปราม และแม้กิจกรรมของเด็กๆร่วมกับชุมชนจะป้องกันและยุติการค้ามนุษย์ไม่ได้ทั้งหมดทว่าเหล่าเด็กดีคลับยืนยันว่าจะประสานกำลังกันให้ถึงที่สุด เพื่อป้องกันมิให้ผองเพื่อนหรือญาติพี่น้องอันเป็นที่รักของพวกเขาต้องตกเป็นเหยื่อของมนุษย์ที่ค้าชีวิตมนุษย์ด้วยกันเอง

 

ช่วยได้ 1 คนก็ยังดีกว่าไม่ได้ทำอะไรเลย...

 


ที่มา: วารสาร 'ลูกศิลป์' ผลงานนิสิตชั้นปีที่ 3 คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มหาวิทยาลัยศิลปากร (ไอซีที ศิลปากร)

ป้ายคำ: 

  • การค้ามนุษย์
  • แรงงานข้ามชาติ
  • สังขละบุรี
  • กาญจนบุรี
  • เด็กดีคลับ
  • ลูกศิลป์
  • คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร
  • มหาวิทยาลัยศิลปากร
  • ไอซีที ศิลปากร
  • แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย