Error message

  • Deprecated function: preg_replace(): The /e modifier is deprecated, use preg_replace_callback instead in _filter_pubdlcnt() (line 50 of /home/amnestyo/domains/amnesty.or.th/public_html/old/sites/all/modules/contrib/pubdlcnt/pubdlcnt.module).
  • Deprecated function: preg_replace(): The /e modifier is deprecated, use preg_replace_callback instead in _filter_pubdlcnt() (line 50 of /home/amnestyo/domains/amnesty.or.th/public_html/old/sites/all/modules/contrib/pubdlcnt/pubdlcnt.module).

ยุติการทรมาน

12 หลักปฏิบัติเพื่อป้องกันการทรมานและการปฏิบัติหรือการลงโทษอื่นๆ ที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรีโดยเจ้าพนักงานของรัฐ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล

1. ประณามการทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้ายอื่น ๆ

หน่วยงานระดับสูงในทุกประเทศควรแสดงออกถึงการต่อต้านอย่างสิ้นเชิงต่อการทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้ายอื่น ๆ โดยควรประณามการปฏิบัติเช่นนั้นอย่างไม่มีเงื่อนไขเมื่อเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้น และควรชี้แจงให้บรรดาเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร และหน่วยงานความมั่นคงอื่น ๆ ทราบอย่างชัดเจนว่า การทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้ายอื่น ๆ เป็นสิ่งที่ไม่อาจยอมให้เกิดขึ้นได้

2. ประกันการเข้าถึงตัวผู้ต้องขัง

การทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้ายอื่น ๆ มักเกิดขึ้นในกรณีที่มีการควบคุมตัวผู้ต้องขังโดยไม่ให้มีการติดต่อกับโลกภายนอก ทำให้ไม่สามารถติดต่อกับคนที่อยู่ภายนอกที่สามารถให้ความช่วยเหลือ และสืบทราบถึงการปฏิบัติที่เกิดขึ้นกับตน การขังบุคคลโดยไม่ให้ติดต่อกับโลกภายนอกเป็นสิ่งที่ควรยุติลง รัฐบาลควรประกันให้มีการนำตัวผู้ต้องขังทุกคนไปปรากฏตัวต่อศาลที่เป็นอิสระโดยไม่ชักช้า ภายหลังถูกจับกุม และผู้ต้องขังควรสามารถเข้าถึงญาติ ทนายความ และแพทย์โดยไม่ชักช้าและอย่างสม่ำเสมอหลังจากถูกควบคุมตัว

3. ห้ามการควบคุมตัวแบบลับ

ในบางประเทศ การทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้ายอื่น ๆ เกิดขึ้นในสถานที่ปิดลับ มักเกิดขึ้นภายหลังตัวผู้เสียหาย “สูญหายไป” รัฐบาลควรประกันให้มีการควบคุมตัวผู้ต้องขังเฉพาะในสถานควบคุมตัวอย่างเป็นทางการ และแจ้งให้ญาติ ทนายความ ศาล และหน่วยงานอื่น ๆ ที่มีความชอบธรรมที่จะได้ทราบถึงข้อมูลอย่างเที่ยงตรงเกี่ยวกับการจับกุมที่เกิดขึ้น และที่อยู่ของผู้ถูกควบคุมตัว อย่างเช่น คณะกรรมการสภากาชาดสากล (International Committee of the Red Cross - ICRC) และควรจัดให้สามารถร้องเรียนต่อศาลได้อย่างเป็นผลในทุกขั้นตอน เพื่อช่วยให้ญาติและทนายความทราบโดยทันทีว่าผู้ต้องขังถูกควบคุมตัวโดยหน่วยงานใด และเพื่อประกันให้เกิดความปลอดภัยต่อผู้ต้องขัง

4. จัดให้มีมาตรการคุ้มครองสิทธิระหว่างถูกควบคุมตัวและสอบปากคำ

ผู้ต้องขังทุกคนควรได้รับแจ้งโดยทันทีเกี่ยวกับสิทธิของตน รวมทั้งสิทธิที่จะร้องเรียนเกี่ยวกับการปฏิบัติที่เกิดขึ้นกับตน และการขอให้ศาลมีคำวินิจฉัยโดยไม่ชักช้าเมื่อเกิดการควบคุมตัวโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายขึ้น ผู้พิพากษาควรตรวจสอบพยานหลักฐานเกี่ยวกับการทรมานหรือการปฏิบัติที่โหดร้ายอื่น ๆ และสั่งให้ปล่อยตัวหากพบว่าเป็นการควบคุมตัวโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทนายความควรอยู่ร่วมระหว่างการสอบปากคำ รัฐบาลควรประกันให้สภาพการควบคุมตัวสอดคล้องกับมาตรฐานระหว่างประเทศว่าด้วยการปฏิบัติต่อผู้ต้องขัง และให้คำนึงถึงความต้องการของกลุ่มบุคคลที่มีความเสี่ยงกว่ากลุ่มอื่น ๆ หน่วยงานราชการที่ดูแลการควบคุมตัวควรเป็นหน่วยงานที่มีอำนาจแยกจากหน่วยงานที่สอบปากคำ และควรให้มีเจ้าพนักงานเข้าไปตรวจสอบสถานควบคุมตัวอย่างสม่ำเสมอ อย่างเป็นอิสระ ไม่มีการประกาศล่วงหน้า และไม่มีการจำกัดการเข้าถึง

5. ข้อห้ามตามกฎหมายต่อการทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้ายอื่น ๆ

รัฐบาลควรนำกฎหมายห้ามและป้องกันการทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้ายอื่น ๆ มาใช้ โดยควรมีเนื้อหาครอบคลุมองค์ประกอบหลักของอนุสัญญาสหประชาชาติเพื่อต่อต้านการทรมานและการปฏิบัติหรือการลงโทษอื่นๆ ที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี (UN Convention Against Torture and other Cruel, Inhuman or Degrading Treatment or Punishment - CAT) และมาตรฐานระหว่างประเทศอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ควรมีการยกเลิกโทษประหารไม่ว่าจะเป็นไปตามคำสั่งศาลหรือฝ่ายบริหาร ต้องไม่มีการชะลอการบังคับใช้ข้อห้ามต่อการทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้ายอื่น ๆ และมาตรการคุ้มครองที่จำเป็นอื่น ๆ ไม่ว่าในพฤติการณ์ใด รวมทั้งในกรณีที่มีการประกาศสงครามหรือสถานการณ์ฉุกเฉิน

6. การสอบสวน

เมื่อเกิดข้อร้องเรียนและรายงานการทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้ายอื่น ๆ ขึ้น ควรมีการสอบสวนโดยหน่วยงานที่เป็นอิสระต่อผู้ถูกกล่าวหาโดยทันที อย่างไม่ลำเอียงและอย่างเป็นผล และควรมีการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับขอบเขต วิธีการและข้อค้นพบของการสอบสวนนั้นต่อสาธารณะ ในระหว่างการสอบสวนควรมีการสั่งพักราชการเจ้าพนักงานใด ๆ ที่ต้องสงสัยว่าเกี่ยวข้องกับการทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้ายอื่น ๆ นั้น และผู้ร้อง พยาน และผู้ที่มีความเสี่ยงอื่น ๆ ควรได้รับการคุ้มครองให้ปลอดจากการข่มขู่และตอบโต้

7. การฟ้องร้องดำเนินคดี

ควรมีการนำตัวผู้ที่รับผิดชอบต่อการทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้ายอื่น ๆ มาลงโทษตามกฎหมาย เป็นหลักการที่ควรนำมาใช้ไม่ว่าผู้ต้องสงสัยจะอยู่ที่ใด มีสัญชาติใดหรือมีตำแหน่งใด ไม่ว่าเป็นความผิดที่เกิดขึ้นที่ใด และผู้เสียหายมีสัญชาติใด และไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานเพียงใดหลังเกิดการกระทำผิดขึ้น รัฐบาลควรประกาศเขตอำนาจสากลเพื่อดำเนินการกับผู้ต้องสงสัยในคดี เพื่อให้มีการส่งตัวเป็นผู้ร้ายข้ามแดน หรือเพื่อส่งตัวเข้ารับการพิจารณาของศาลอาญาระหว่างประเทศ และให้ความร่วมมือกับการดำเนินคดีเหล่านั้น การพิจารณาคดีควรเกิดขึ้นอย่างเป็นธรรม และไม่ควรยอมรับคำกล่าวอ้างว่าเป็นการกระทำตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชาเพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับการทรมานหรือการปฏิบัติที่โหดร้ายอื่น ๆ

8. ห้ามใช้ถ้อยคำที่ได้มาจากการทรมานหรือการปฏิบัติที่โหดร้ายอื่น ๆ

รัฐบาลควรประกันว่าจะไม่นำถ้อยคำและหลักฐานที่ได้มาจากการทรมานหรือการปฏิบัติที่โหดร้ายอื่น ๆ มาใช้ในขั้นตอนตามกฎหมาย เว้นแต่เป็นกรณีที่บุคคลผู้ถูกกล่าวหาร้องเรียนว่าเกิดการทรมานหรือการปฏิบัติที่โหดร้ายอื่น ๆ ขึ้นกับตน

9. การฝึกอบรมที่เป็นผล

ในระหว่างการฝึกอบรมเจ้าพนักงานที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมตัว การสอบปากคำ และการรักษาพยาบาลผู้ต้องขัง ควรมีการชี้แจงอย่างชัดเจนว่าการทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้ายอื่น ๆ เป็นการกระทำผิดทางอาญา ควรมีการแจ้งให้เจ้าพนักงานทราบว่าตนเองมีสิทธิและหน้าที่ที่จะปฏิเสธไม่ปฏิบัติตามคำสั่งให้ทรมาน หรือให้ปฏิบัติอย่างโหดร้ายอื่น ๆ

10. การชดใช้ค่าเสียหาย

ผู้เสียหายจากการทรมานหรือการปฏิบัติที่โหดร้ายอื่น ๆ และผู้พึ่งพาเขาควรมีสิทธิที่จะได้รับการชดใช้ค่าเสียหายโดยพลันจากรัฐ รวมทั้งการชดใช้ ค่าชดเชยที่เป็นตัวเงินซึ่งเป็นธรรมและเพียงพอ และการรักษาพยาบาลอย่างเหมาะสม รวมทั้งการฟื้นฟูสมรรถภาพ

11. ให้สัตยาบันสนธิสัญญาระหว่างประเทศ

รัฐบาลทุกประเทศควรให้สัตยาบันสนธิสัญญาระหว่างประเทศที่มีเงื่อนไขคุ้มครองไม่ให้เกิดการทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้ายอื่น ๆ โดยไม่ประกาศข้อสงวน รวมทั้ง กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองและพิธีสารเลือกรับฉบับที่ 1 (International Covenant on Civil and Political Rights - ICCPR) และอนุสัญญาสหประชาชาติเพื่อต่อต้านการทรมาน รวมทั้งคำปฏิญญาที่ให้มีการร้องเรียนของบุคคลและหน่วยงานระหว่างรัฐ และพิธีสารเลือกรับ โดยรัฐบาลควรปฏิบัติตามข้อเสนอแนะของหน่วยงานระหว่างประเทศและผู้เชี่ยวชาญพิเศษเกี่ยวกับการป้องกันการทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้ายอื่น ๆ

12. การแสดงความรับผิดชอบระหว่างประเทศ

รัฐบาลควรใช้ช่องทางที่มีอยู่เพื่อร่วมมือกับรัฐบาลของประเทศที่มีรายงานว่า ได้เกิดการทรมานหรือการปฏิบัติที่โหดร้ายอื่น ๆ ขึ้น โดยการประกันว่าการให้ความช่วยเหลือด้านการอบรมและการจัดส่งอุปกรณ์ด้านทหาร ความมั่นคงหรือตำรวจ ไปให้กับประเทศอื่น จะไม่ถูกนำไปใช้เพื่อสนับสนุนการทรมานหรือการปฏิบัติที่โหดร้ายอื่น ๆ รัฐบาลต้องไม่บังคับส่งกลับหรือเคลื่อนย้ายตัวบุคคลไปยังประเทศที่มีความเสี่ยงว่าเขาอาจตกเป็นเหยื่อของการทรมานหรือการปฏิบัติที่โหดร้ายอื่น ๆ

หลักปฏิบัติ 12 ข้อฉบับนี้กำหนดมาตรการเพื่อป้องกันการทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้ายอื่น ๆ สำหรับบุคคลที่อยู่ใต้การควบคุมตัวของรัฐ หรืออยู่ในเงื้อมมือของหน่วยงานของทางการ

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลผลักดันให้รัฐบาลต้องปฏิบัติตามพันธกรณีระหว่างประเทศของตนในการป้องกันและลงโทษเมื่อเกิดการทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้ายอื่น ๆ ขึ้น ไม่ว่าผู้กระทำจะเป็นเจ้าพนักงานของรัฐหรือบุคคลอื่นใด แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลยังต่อต้านการทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้ายอื่น ๆ ซึ่งเป็นการกระทำของกลุ่มการเมืองที่ติดอาวุธ

 

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล 22 เมษายน 2548