Error message

  • Deprecated function: preg_replace(): The /e modifier is deprecated, use preg_replace_callback instead in _filter_pubdlcnt() (line 50 of /home/amnestyo/domains/amnesty.or.th/public_html/old/sites/all/modules/contrib/pubdlcnt/pubdlcnt.module).
  • Deprecated function: preg_replace(): The /e modifier is deprecated, use preg_replace_callback instead in _filter_pubdlcnt() (line 50 of /home/amnestyo/domains/amnesty.or.th/public_html/old/sites/all/modules/contrib/pubdlcnt/pubdlcnt.module).

ศิลปินเพื่อแอมเนสตี้ “Artists for Amnesty”

อีกหนึ่งบทบาทอย่างสร้างสรรค์ที่ศิลปินสามารถทำให้เกิดเป็นจริงได้ เพื่อเป็นการสร้างแรงบันดาลใจให้กับคนในสังคม ได้หันมาตระหนัก และร่วมเป็นอีกหนึ่งพลังในการปกป้องคุ้มครองสิทธิมนุษยชนกับแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล

“ศิลปินเพื่อแอมเนสตี้” เป็นโครงการของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลที่จัดขึ้นทั่วโลก โดยเป็นการรวมตัวของศิลปินจากหลากหลายสาขา เพื่อกระตุ้นให้เกิดความร่วมมือในการทำงานรณรงค์เพื่อส่งเสริม ปกป้องและคุ้มครองมนุษยชน

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลได้รับการสนับสนุนจากศิลปินในหลากหลายสาขาทั่วโลก มาตั้งแต่เริ่มจัดตั้งองค์กรในปี 2504 เนื่องจากเหล่านักเขียน คนเขียนบทละคร นักดนตรีและนักกวีมากมายได้โดนจับกุมจากผลงานของพวกเขาและได้กลายเป็นนักโทษทางมโนธรรมสำนึก (Prisoner of conscience)1

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเห็นว่า ศิลปินเหล่านั้นมีสิทธิและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นตามหลักสิทธิมนุษยชนสากล ดังนั้นจึงได้ทำการเรียกร้องเพื่อปกป้องสิทธิเหล่านั้น ซึ่งต่อมากิจกรรมรณรงค์เพื่อปลดปล่อยนักโทษมโนธรรมสำนึกได้เป็นการทำงานในเชิงสร้างสรรค์ และเป็นภารกิจหลักที่ดำเนินการมากว่า 50 ปี

ศิลปะเพื่อแอมเนสตี้นั้นอาศัยความคิดสร้างสรรค์ ความตั้งใจและสนับสนุนการทำงานของศิลปิน เพื่อสนับสนุนการทำงานขององค์กรและปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน

 

สิ่งที่ “ศิลปินเพื่อแอมเนสตี้” ลงมือ

Be one more: ร่วมในกิจกรรมที่สำคัญขององค์การฯ เพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์การทำงานเพื่อปกป้องคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ตัวอย่างกิจกรรมสำคัญที่ผ่านมาในปีที่แล้วคือ คอนเสิร์ตฉลองครบรอบ 50 ปีขององค์การฯ ในเดือนพฤษภาคม และ กิจกรรม Shine A Rights ในเดือนธันวาคม

Ask one more: เปลี่ยนรูปภาพส่วนตัวบน Facebook เป็นรูปของคุณเองหรือกลุ่มเพื่อนที่ถือแผ่นป้ายของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ซึ่งเขียนว่า “I am Artist for Amnesty, join me in this global movement and help change the world” (เราคือศิลปินของแอมเนสตี้ ร่วมมือกับเราเพื่อการทำงานด้านสิทธิมนุษยชนและเปลี่ยนแปลงโลกใบนี้) หรือข้อความรณรงค์ในประเด็นการทำงานของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลต่างๆ ที่คุณสนับสนุน เพื่อเชิญชวนให้ผู้ติดตามผลงานของคุณเข้าร่วมกับเราในการปกป้องคุ้มครองสิทธิมนุษยชน

Act once more: นำเสนอประเด็นสิทธิมนุษยชนที่ทางองค์การฯ รณรงค์ ผ่านผลงานของคุณในรูปแบบต่าง ๆ เช่น งานเขียน บทเพลง บทกวี บทละคร บทภาพยนตร์ ละครเวที การ์ตูน ภาพวาด ภาพถ่าย เป็นต้น หรือร่วมกันเขียนจดหมายในส่วนของกิจกรรมรณรงค์ร่วมกับแอมเนสตี้

อินเตอร์เนชั่นแนล และแสดงให้กับกลุ่มผู้ชื่นชอบในตัวคุณว่า ลายเซ็นหนึ่งลายเซ็นสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับชีวิตคนๆ หนึ่งซึ่งเป็นเหยื่อของการโดนละเมิดสิทธิมนุษยชนได้

 

วัตถุประสงค์

  1. เพื่อให้ศิลปินแขนงต่างๆ และบุคคลที่มีชื่อเสียงในสังคมไทยให้ความใส่ใจ ตระหนัก และลงมือปฏิบัติการตามความเหมาะสมในประเด็นสิทธิมนุษยชนมากขึ้น
  2. เพื่อสร้างกลุ่มศิลปินเพื่อแอมเนสตี้ในประเทศไทย ซึ่งจะเป็นผู้สนับสนุนการดำเนินงานด้านสิทธิมนุษยชนและร่วมแสดงพลังส่งเสริมสิทธิมนุษยชน
  3. เพื่อสร้างศิลปินที่สนับสนุนการดำเนินงานของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย

 

ศิลปินเพื่อแอมเนสตี้ “Artist for Amnesty” (Thailand)

ศุ บุญเลี้ยง

การช่วยงานแอมเนสตี้ฯ เหมือนกับว่าเราช่วยในสิ่งที่เราเชื่ออยู่แล้ว การช่วยแอมเนสตี้ก็เหมือนกับช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ซึ่งอาจจะไม่ได้เป็นญาติเรา หรือวันหนึ่งอาจจะเป็นเราก็ได้ วันนึงผมพูดๆอยู่ อาจจะถูกหิ้วไปที่ตะราง ถูกสอบสวน เพราะฉะนั้นวันที่คนอื่นถูกสอบสวนแล้วไม่ได้รับความยุติธรรม หรือไม่ได้รับความช่วยเหลือ เราก็ต้องคิดว่า แล้วถ้าเป็นเราล่ะ วันหนึ่งก็เป็นเราได้ด้วย ในประเทศที่อับเฉาขนาดนี้ คุณอย่าคิดว่าคุณแน่นะ วันหนึ่งคุณอาจจะถูกสอบสวน ถูกซ้อมก็ได้ ไม่มีหลักประกันหรอก

 

ศิลปินที่ร่วมสนับสนุนการยกเลิกโทษประหารชีวิต

เป้ อารักษ์ อมรศุภศิริ

นักร้อง นักดนตรี นักแสดง นายแบบ

“การประหารชีวิตเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน เพราะคนเราไม่มีสิทธิที่จะฆ่าใครก็ได้ตามต้องการ แต่ก็ไมได้หมายความว่ากระบวนยุติธรรมไม่จำเป็นนะ จำเป็นแต่ควรที่จะถูกต้องมากๆ”

“วิธีการรณรงค์ที่แอมเนสตี้ฯ กำลังทำอยู่คือการรวบรวมลายเซ็น ตัวผมเองตอนแรกคิดว่าการให้ลายเซ็น เซ็นไปล้านใบแต่ผู้มีอำนาจก็ไม่สนใจอยู่ดี ถ้าเขาไม่สนใจ แล้วจะเกิดอะไร แต่จริง ๆ แล้วไม่ใช่แค่นั้น เพราะลายเซ็นของคุณเป็นการยืนยันว่าคุณต่อต้านการละเมิดสิทธิมนุษยชน ไม่ต้องกลัวว่าเสียงของคุณจะไม่มีค่า เพราะเมื่ออยู่รวมกันก็จะมีพลังมากขึ้น”
 

คุณกิรติ พรหมสาขา ณ สกลนคร หรือเขียว คาราบาว

นักร้องและมือกีตาร์วงคาราบาว

“ผมสัญญาว่าจะใช้ศักยภาพที่มีร่วมรณรงค์เพื่อให้ทุกคนมีสิทธิเท่าเทียมกัน”

“สิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานมีอยู่ในตัวคนเราตั้งแต่เราเกิดแล้ว แต่คนส่วนใหญ่อาจจะยังไม่รู้หรือละเลย สาเหตุอาจจะมาจากการศึกษา ภาวะเศรษฐกิจที่บีบรัดให้คนต้องดิ้นรนเพื่อหาเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง จนทำให้ละเลยเรื่องราวตรงนี้ไป ทำให้ไม่รู้ว่าตัวเองมีสิทธิบางอย่างที่คนอื่นจะมาละเมิดไม่ได้ ในฐานนะนักร้องก็คงจะใช้บทเพลงเป็นสื่อ เพื่อรณรงค์ให้คนสนใจเรื่องนี้มากขึ้น ให้คนรับรู้ว่าเรามีสิทธิเท่าเทียมกัน ดังนั้นจะต้องมีขอบเขตในการใช้ชีวิตร่วมกัน ไม่เบียดเบียนกัน ไม่ละเมิดซึ่งกันและกัน”

 

มัสคีเทียร์(Musketeers) วงดนตรีโมเดิร์นร็อคขวัญใจวัยทีน แห่งค่าย believe records

ร่วมสนับสนุนการเคารพสิทธิมนุษยชน สิทธิและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น

“เรื่องสิทธิมนุษยชนคนทั่วไปมองว่าไกลตัว จริง ๆ เป็นสิ่งที่อยู่กับเราตลอดเวลา เพียงแต่ว่าเรามองไม่เห็น”

“หลายครั้งที่เรามักจะมองคนอื่นต่ำกว่า และปฏิบัติแบบไม่เท่าเทียม เช่นแรงงานข้ามชาติ เราก็มักไปล้อเลียนเขา เห็นว่าเขาต่ำกว่า ซึ่งเป้นสิ่งที่ไม่ควรทำ ในอนาคตก็จะไม่มีการแบ่งแยกกันแล้ว เพราะไม่ว่าเขาจะเป็นใคร เขาก็เป็นคนเหมือนกับเรา และเห็นด้วยกับการยกเลิกโทษประหารชีวิต จากการศึกษาวิจัยในประเทศยุโรป สถิติคดีอาชญากรรมไม่ได้เพิ่มขึ้น ถึงแม้ไม่มีโทษประหารชีวิตแล้วก็ตาม นั่นหมายความว่าโทษประหารชีวิตไม่เกี่ยวกับการเพิ่มขึ้นของคดีอาชญากรรมแต่อย่างใด”

 

วิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง

ผู้กำกับภาพยนตร์และนักเขียนบทภาพยนตร์คลื่นลูกใหม่ ผลงานสร้างชื่อคือภาพยนตร์ “ฟ้าทะลายโจร”

“โทษประหารชีวิตไม่ได้แก้ปัญหาอาชญากรรม”

“ตอนกระทำความผิดบรรดาอาชญากรไม่คิดหรอกว่าเขาจะได้รับโทษอะไร การนำหลักการเรื่องความเมตตา การทำให้คนกลับใจ ทำให้คนที่ชำรุดกลับมาสู่สังคม ซึ่งเขาอาจจะเป็นกำลังและมีประโยชน์ต่อสังคมต่อไป การที่คนเรากระทำผิดมักจะมีเหตุและปัจจัยเสมอ การประหารชีวิตคน ๆ หนึ่งจะส่งผลกระทบต่อครอบครัวของเขาด้วย ทำให้มีผู้สูญเสียเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งครอบครัว และที่สำคัญกระบวนการยุติธรรมบ้านเรายังมีปัญหา มีคนบริสุทธิ์จำนวนไม่น้อยที่ถูกจับกุมและถูกตัดสินประหารชีวิต”

 

วิชา เทศดรุณ

นักร้องนำและกีตาร์ริทึ่ม วงฮาร์โมนิก้า ซันไรส์ (Harmonica Sunrise) วงดนตรีไทยร็อกแอนด์โรลจากเชียงใหม่

“มนุษย์ทุกคนมีสิทธิขั้นพื้นฐานเท่าเทียมกัน ใครจะถูกรังแกโดยไม่เป็นธรรมไม่ได้”

“ผมสนับสนุนให้ยกเลิกโทษประหารชีวิต เพราะรับรู้มาว่ากระบวนการยุติธรรมบ้านเรายังมีปัญหาอีกมาก มีผู้บริสุทธิ์จำนวนไม่น้อยผู้จับเป็น “แพะ” เขาเหล่านั้นต้องมารับโทษในสิ่งที่เขาไม่ได้ก่อ ผมว่ามันโหดร้ายเกินไปที่มนุษย์กระทำต่อกันแบบนี้ ปัจจุบันกฎหมายถูกใช้เป็นเป็นเครื่องมือสำหรับผู้มีอำนาจ ผู้ที่มีความเหนือกว่า (คนอื่น) ซึ่งเป็นสิ่งที่แย่มาก มนุษย์ทุกคนควรจะมีสิทธิขั้นพื้นฐานเท่าเทียมกัน ใครจะถูกรังแกอย่างไม่เป็นธรรมไม่ได้

 

 

อาจารย์ชำนาญ จันทร์เรือง

นักวิชาการอิสระและคอลัมนิสต์ประจำคอลัมน์ "มองมุมใหม่" หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ

“โทษประหารชีวิตเป็นการเลือกปฏิบัติ”

“การประหารชีวิตเป็นนัยยะของการใช้ความรุนแรงเพื่อความสะใจ แบบ “ตาต่อตา ฟันต่อฟัน” และยังเป็นการเลือกปฏิบัติ คนที่กระทำความผิดและมีเส้นสายใหญ่โตมักไม่ถูกลงโทษ คนรวยมีใครบ้างที่ถูกประหารชีวิต นักโทษประหารส่วนใหญ่เป็นคนยากจน และคนด้อยโอกาสที่ไม่สามารถว่าจ้างทนายความที่มีความสามารถเพื่อจะแก้ต่างให้กับตนเองได้ ซึ่งสะท้อนถึงความไม่เป็นธรรมในการต่อสู้คดีและเลือกปฏิบัติ ความยุติธรรมจะต้องเสมอหน้าและเท่าเทียมกัน เพื่อที่จะแสดงให้สังคมได้เห็นว่าผู้กระทำผิดจะได้รับการลงโทษอย่างเท่าเทียมและเสมอหน้ากันโดยไม่เว้นว่าเป็นลูกท่านหลานใคร”

 

นก รัตติกาล 

ศิลปินอิสระ

“มนุษย์ทุกคนควรจะมีโอกาสแก้ไข มีโอกาสแก้ตัวและมีโอกาสที่จะนับหนึ่งใหม่อีกครั้ง”

“คนเราเกิดมามีความเป็นมนุษย์เหมือนกัน แต่เราถูกปลูกฝังให้มีการแบ่งแยกด้วยหลายเงื่อนไข ไม่ว่าจะเป็นฐานะ สีผิว ความเชื่อ แต่สิ่งหนึ่งที่ไม่สามารถแบ่งแยกได้คือจิตวิญญาณ เรามีความเป็นมนุษย์เหมือนกัน ชีวิตมีค่าเท่ากัน การทำงานศิปะทำให้เรามองและชวนคนอื่นให้มองอย่างอ่อนโยน และเห็นอกเห็นใจกัน ผมเชื่อว่าคนเราควรมีความโอกาสแก้ไข ควรมีโอกาสแก้ตัว ถ้าเราบอกว่ามีคนบางประเภทที่กระทำความผิดบางอย่างที่ไม่สามารถให้อภัยได้ ต้องกำจัดเขาออกไปจากโลกนี้ด้วยกฎเกณฑ์อะไรบางอย่าง ใช้ความว่าละเมิดสิทธิมันอาจจะเท่ห์ไป แต่การไปทำแบบนั้นมันเป็นการไปปิดกั้นโอกาสของเขาหรือเปล่า?”

 

ศิลปินที่ร่วมสนับสนุนสิทธิและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น

"ตุล ไวฑูรเกียรติ" หรือ "ตุล อพาร์ตเมนต์คุณป้า"

วงดนตรีอินดี้ขวัญใจเด็กแนว 

“การแสดงความคิดเห็นทำให้โลกเราแตกต่าง”

“ผมเชื่อว่าเรื่องทุกเรื่องควรจะถูกเล่า ถึงแม้จะเป็นเรื่องที่เลวร้ายที่สุด เราสามารถเล่าผ่านศิลปะในรูปแบบต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นงานเขียน การพูดคุย หรือบทกวี คนมีสิทธิได้พูด ได้เห็น ได้เล่า ได้กระโดดโลดเต้น ศิลปะเป็นสิ่งที่มีพลังและสามารถเชื่อมโยงให้หลายคนมาเจอกัน การได้มาร่วมงานกับแอมเนสตี้ฯ ก็คงจะเล่าเรื่องทุกอย่างผ่านเสียงเพลงผ่านดนตรี ผ่านทุก ๆ สิ่งที่ทำเพื่อให้ทุกคนเห็นว่าความเป็นมนุษย์นี่แหละเป็นสิ่งที่เราต้องตระหนัก เราทุกคนมีความเป็นมนุษย์เท่ากัน และเราต้องเคารพความเป็นมนุษย์ของกันและกัน”

 

ดร.วิทย์ สิทธิเวคิน

พิธีกรและผู้ดำเนินรายการโทรทัศน์รายการ "ข่าวห้าหน้าหนึ่ง" ทางช่อง 5

“เราจะใช้สิทธิของตัวเองอย่างไรไม่ให้กระทบกระเทือนการดำรงชีวิตของผู้อื่น ต้องเรียนรู้ที่จะเคารพซึ่งกันและกัน และอยู่ร่วมกันให้ได้ถึงแม้จะมีความคิดเห็นที่แตกต่างกัน”

“เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นทาง social media สมัยนี้เป็นการปลูกฝังประชาธิปไตยไปในตัว ทำให้สื่อต้องตระหนักและมีความชอบธรรมมากขึ้นในการนำเสนอข่าวสาร ภาคประชาสังคมมีบทบาทมากขึ้นในการตรวจสอบสื่อ สิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกบนโลกออนไลน์มีความเป็นอิสระสูง ถ้าผู้ใช้เคารพสิทธิของผู้อื่นก็จะช่วยกำกับตรวจสอบสังคมได้ดี แต่ถ้าใช้ในการปลุกเร้าที่ไม่เหมาะสมก็จะถูกตั้งคำถามกลับจากสังคมด้วยเช่นกัน”

 

คุณชัยรัตน์ ถมยา

บรรณาธิการข่าวต่างประเทศ และผู้ประกาศข่าวสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส

“สื่อมวลชนต้องมีหลักจริยธรรมในการนำเสนอข่าวสาร”

“สื่อมวลชนทำหน้าที่ให้การศึกษาประชาชนในเรื่องสิทธิมนุษยชนได้ด้วย ในการนำเสนอข่าวสาร เราสามารถพูดเสริมได้ว่าประชาชนมีสิทธิทำอะไรได้บ้างเพื่อความถูกต้อง ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกันในการสร้างวัฒนธรรมเคารพสิทธิมนุษยชน การทำงานของสื่อมวลชนบางครั้งอาจไม่ได้คำนึงถึงประเด็นเล็กน้อย ที่อาจจะนำไปสู่การละเมิดสิทธิของคนอื่นได้ เช่นการนำเสนอข่าวกรณีเหยื่อที่เป็นเด็ก หรือผู้ที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศ ต้องระวังว่าจะไม่ไปเปิดเผยหน้าตาผู้เคราะห์ร้าย ในการใช้คำพูดก็ต้องระมัดระวัง เช่น คำว่าผู้ต้องสงสัย กับผู้ต้องหา ต้องใช้ให้ถูกต้อง ประเด็นเหล่านี้เป็นจุดที่ต้องระมัดระวัง ต้องช่วยกันตรวจสอบและตักเตือนอยู่เสมอเพื่อความถูกต้อง”

 

คุณสังกมา สารวัตร

อาจารย์ประจำคณะเทคโนโลยี สารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) สาขานิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร และผู้ดำเนินรายการ "เช้าทันโลก" FM.96.5 อสมท.

“ในสังคมปัจจุบันถ้าแสดงความคิดเห็นไม่ได้สังคมก็จะมืดบอด”

“ที่ผ่านมาสื่อถูกครอบงำโดยรัฐ ทุนขนาดใหญ่ และกรอบความคิดบางสำนัก ยิ่งสังคมมีการแบ่งขั้วชัดเจนแค่ไหน ก็ยิ่งต้องเปิดพื้นที่ให้ประชาชนมีโอกาสแสดงความคิดเห็นและตรวจสอบกันมากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็น social media หรือเว็บไซด์ต่าง ๆ ประชาชนต้องรู้จักวิเคราะห์และรู้เท่าทันสื่อให้มากขึ้น ส่วนสื่อก็ต้องถามตัวเองว่าเราตกเป็นเหยื่อสำนักคิดไหนหรือเปล่า เรายังเปิดกว้างไม่มากพอไหม และสิ่งที่ท้าท้ายสำหรับสื่อมวลชนเองคือท่ามกลางความขัดแย้งที่เกิดขึ้น สื่อควรจะทำให้ประชาชนหลุดพ้นจากความขัดแย้งไม่ใช่หรือ แต่ท้ายสุดเราไปตกอยู่ในวังวนนั้นด้วยหรือเปล่า”

 

ปิยทัต เหมทัต

ช่างภาพอิสระ เคยมีผลงานตีพิมพ์ในนิตยสารหลายฉบับทั้งในประเทศและต่างประเทศ อาทิ Time Magazine New York , The Guardian London , Image, ดิฉัน ฯลฯ

“ปัจจุบันเราถูกยัดไอเดียหรือประเด็นต่าง ๆ ผ่านสื่อ เช่น โฆษณาชวนเชื่อ (Propaganda) คนไทยต้องรู้จักคิด ให้ฟังหูไว้หู แล้วประเมินด้วยความคิดของตัวเอง”

“คนเรามีสิทธิเท่าเทียมกันในการมีปากมีเสียง พอมีกฎหมายมาบอกว่าเราพูดแบบนั้นไม่ได้ แบบนี้ไม่ได้ ผมว่าเป็นเรื่องไม่ยุติธรรมและไม่มีมาตรฐาน เช่นการแบนภาพยนตร์ ผมว่ามันเป็นการขัดแย้งกับระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง เพราะประชาชนถูกริดรอนสิทธิในการที่จะเสพสิ่งที่หนังนำเสนอ และเสียโอกาสในการได้ตัดสินด้วยตัวเอง เพราะมีคนมาตัดสินแทนโดยการแบนภาพยนตร์เหล่านั้นไม่ให้ออกฉายเสียก่อนแล้ว”

 

คุณราชันย์ กัลยาฤทธิ์

ศิลปินอิสระ (wood cut)

“ถ้าเราเห็นคนที่ถูกละเมิดสิทธิ แล้วเราตัวสั่นไปกับเขาด้วย แสดงว่าเราคือเพื่อนกัน”
“ประเด็นเรื่องสิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกนั้นมีความสำคัญอย่างมาก เพราะจะนำไปสู่ประเด็นต่างๆ  หากถ้าเราไม่สามารถที่จะแสดงความคิดเห็นที่แตกต่างได้ เราก็ไม่อาจทำความเข้าใจต่อสาธารณชนในประเด็นอื่น ๆ ได้ด้วย”

 

สิทธิพร บรรจงเพชร

ศิลปินอิสระ

“เรื่องคนบางกลุ่มที่ถูกสังคมมองข้ามไป เราจะนำเสนอเพื่อให้สังคมได้รับทราบ ผ่านภาพถ่ายหรือการจัดนิทรรศการ”

“ในฐานะศิลปินหรือคนทำงานศิลปะ เมื่อทำงานแล้วมันต้องได้เผยแพร่ ศิลปะคือการแสดงออกในเรื่องต่างๆ ที่เราสนใจ โดยไม่ขัดกับศีลธรรม ไม่ไปละเมิดสิทธิของใคร โดยเฉพาะเรื่องราวของคนบางกลุ่มที่ถูกสังคมมองข้ามไปเรายิ่งต้องนำเสนอ เพื่อให้สังคมได้รับรู้ เด็กทุกวันนี้ส่วนใหญ่จะสนใจแต่เรื่องใกล้ตัว หรือเรื่องส่วนตัว ผมพยายามนำเสนองานที่เกี่ยวกับเรื่องของส่วนรวมบ้าง อย่างน้อยอาจจะทำให้คนรุ่นใหม่ได้ฉุกคิดได้ว่า ยังมีประเด็นเกี่ยวกับปัญหาของสังคม ช่องว่างของสังคม ที่พวกเขาควรรับรู้และมีส่วนร่วมในการช่วยเหลือเมื่อมีโอกาส”

 

ศิลปินที่ร่วมสนับสนุนการเคารพสิทธิมนุษยชน

เบ๊นซ์ พรชิตา ณ สงขลา

นักแสดงหญิงชื่อดัง

“จะเป็นอีกเสียงหนึ่งที่จะช่วยบอกต่อในเรื่องการเคารพสิทธิมนุษยชน”

“ในประเทศไทยตอนนี้หลายที่กำลังจะถูกปรับให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว อาจจะทำให้หลายบ้าน หลายชุมชนถูกผลักออกจากถิ่นที่อยู่เดิม ซึ่งถ้าเราไม่เห็นด้วย เพราะว่าบ้านเราเราก็ต้องอยู่เหมือนกัน ถ้าเรารู้สึกว่าเราไม่อยากสูญเสียบ้านเราไป เราก็ต้องออกมาเรียกร้องกัน อย่าอาย อย่ารู้สึกว่าเกรงใจเขา เขาเป็นคนใหญ่คนโตเราไปพูดอะไรไม่ได้ อย่าคิดอย่างนั้นค่ะ ชุมชนทุกชุมชนมีปากเสียงเท่ากัน ทุกคนมีคะแนนเท่ากัน เบนซ์คิดว่า ถ้าเราร่วมมือกันเราก็จะอยู่ได้โดยมีสิทธิเท่าเทียมกับคนอื่นเช่นกัน”

 

มิค บรมวุฒิ หิรัณยัษฐิติ

นักแสดงหนุ่ม

“สิทธิมนุษยชนนั้นสำคัญมาก การที่คนถูกละเมิดเพราะเขาไม่ได้รับการศึกษาหรือไม่มีสิทธิไม่มีเสียงในสังคม”

“คนทุกคนมีสิทธิ แต่บางคนอาจจะถูกละเมิดเนื่องจากว่าด้อยการศึกษาหรือว่าไม่สามารถออกเสียงเพื่อช่วยเหลือตัวเองได้ และชุมชนก็ไม่ช่วยเขา ดังนั้นจึงเป็นเรื่องที่ดี ที่คนที่มีโอกาสมากกว่าจะยื่นมือเข้าไปช่วยคนที่มีโอกาสน้อย เพื่อให้เขาเหล่านั้นได้รับสิทธิที่ควรจะได้เท่าเทียมกับผู้อื่น เราต้องให้ความสำคัญในการช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน”

 

จุลยุทธ โล่โชตินันท์

วาทยากรวง Bangkok Charity Orchestra คณะดนตรีออร์เคสตร้าการกุศลคณะแรกและคณะเดียวของประเทศไทย  

“ผมใช้ดนตรีในการสนับสนุนเรื่องสิทธิมนุษยชนและการกุศล”

“ผมสนับสนุนงานของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลมาตั้งแต่สมัยเป็นนักศึกษาที่มหาวิทยาลัยออกฟอร์ด ในปี 2004 ผมได้เป็นวาทยากรให้กับวงออร์เคสตร้าประจำมหาลัยในคอนเสิร์ตการกุศล โดยรายได้จากคอนเสิร์ตครั้งนั้นได้มอบให้แก่แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเพื่อช่วยเหลือเหยื่อจากสงครามในประเทศซูดาน เมื่อกลับมาอยู่เมืองไทย จึงได้ก่อตั้งวง “Bangkok Charity Orchestra” โดยรายได้จากการจัดจำหน่ายบัตรทั้งหมดจะมอบให้หน่วยงานหรือองค์กรการกุศลโดยไม่หักค่าใช้จ่ายใดๆทั้งสิ้น”

 

"เอ้ นิติ'กุล" หรือ "นิติธร ทองธีรกุล"

นักร้อง-นักแต่งเพลงเพื่อชีวิตและสังคม

“สิทธิมนุษยชนเป็นดั่งชีวิตและลมหายใจ หากเราขาดลมหายใจเราก็ไม่มีชีวิตและสิทธิ”

“การละเมิดสิทธิมนุษยชนยังคงเกิดขึ้นอยู่ในสังคมโลก เพียงแต่รูปแบบเปลี่ยนไป ไม่ใช่การสู้รบแบบสงคราม แต่เป็นการแย่งชิงทรัพยากรเพื่อนำไปสู่การสร้างโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ ปัจจุบันยังมีคนหลายกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากโครงการเหล่านั้น เพื่อตอบสนองความต้องการของเมืองที่เติบโตขึ้น เมืองพัฒนาไปเท่าไรการเข้าไปรุกล้ำทรัพยากรป่าไม้ก็มากขึ้นเท่านั้น เพราะไฟฟ้าที่เราใช้อยู่แต่ละหลอดแต่ละดวงมันมาจากการสร้างเขื่อน การถลุงเปิดหน้าดินเพื่อสร้างเหมืองแร่ ในประเทศไทยยังมีชาวบ้านจำนวนมากที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนที่ยังไม่ได้รับการดูแลที่ดี ทำให้ชีวิตเขาแย่ลง ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ก็หดหายไป”

 

วริศฐ์ ชะเอม

อดีตนักร้องนำวงอีเดียท (IDIOT) ค่ายอาร์เอส ปัจจุบันเป็นโปรดิวเซอร์ และคนทำเพลงในแวดวงเพื่อชีวิต

“คนเหล่านี้เขาอาจจะมีโอกาสกลับตัวเป็นคนดีของสังคมได้ เขาอาจจะสำนึกได้ ต่อไปเขาอาจจะไม่อยากทำผิดอีกแล้ว เขาอาจจะสามารถใช้ประสบการณ์ที่ล้มเหลว มาเป็นแรงผลักดันในทางที่ดีได้”

“การที่คนกระทำความผิดแล้วถูกนำไปประหารชีวิตนั้น มันง่ายเกินไป เขาควรได้รับบทเรียนผลจากการกระทำของเขา ว่าสิ่งที่ทำลงไปมันผิดนะ ผิดอย่างไม่น่าให้อภัย ให้เขาได้มีโอกาสพิจารณาตัวเอง ความทุกข์ทรมานจากการถูกจองจำเป็นสิ่งที่เขาสมควรได้รับ การที่คน ๆ หนึ่งทำผิดแล้วตายไปทุกอย่างก็จบตรงนั้น แต่การถูกจองจำมันทุกข์ทรมานมากกว่าตายเสียอีก เขาต้องเรียนรู้ที่จะต้องสำนึกและรับผิดชอบในสิ่งที่เขาทำลงไป เขาจะได้รับรู้การสูญเสีย คนเหล่านี้เขาอาจจะมีโอกาสกลับตัวเป็นคนดีของสังคมได้ เขาอาจจะสำนึกได้ ต่อไปเขาอาจจะไม่อยากทำผิดอีกแล้ว เขาอาจจะสามารถใช้ประสบการณ์ที่ล้มเหลว มาเป็นแรงผลักดันในทางที่ดีได้”