Error message

  • Deprecated function: preg_replace(): The /e modifier is deprecated, use preg_replace_callback instead in _filter_pubdlcnt() (line 50 of /home/amnestyo/domains/amnesty.or.th/public_html/old/sites/all/modules/contrib/pubdlcnt/pubdlcnt.module).
  • Deprecated function: preg_replace(): The /e modifier is deprecated, use preg_replace_callback instead in _filter_pubdlcnt() (line 50 of /home/amnestyo/domains/amnesty.or.th/public_html/old/sites/all/modules/contrib/pubdlcnt/pubdlcnt.module).
  • Deprecated function: preg_replace(): The /e modifier is deprecated, use preg_replace_callback instead in _filter_pubdlcnt() (line 50 of /home/amnestyo/domains/amnesty.or.th/public_html/old/sites/all/modules/contrib/pubdlcnt/pubdlcnt.module).
  • Deprecated function: preg_replace(): The /e modifier is deprecated, use preg_replace_callback instead in _filter_pubdlcnt() (line 50 of /home/amnestyo/domains/amnesty.or.th/public_html/old/sites/all/modules/contrib/pubdlcnt/pubdlcnt.module).
  • Deprecated function: preg_replace(): The /e modifier is deprecated, use preg_replace_callback instead in _filter_pubdlcnt() (line 50 of /home/amnestyo/domains/amnesty.or.th/public_html/old/sites/all/modules/contrib/pubdlcnt/pubdlcnt.module).
  • Deprecated function: preg_replace(): The /e modifier is deprecated, use preg_replace_callback instead in _filter_pubdlcnt() (line 50 of /home/amnestyo/domains/amnesty.or.th/public_html/old/sites/all/modules/contrib/pubdlcnt/pubdlcnt.module).
  • Deprecated function: preg_replace(): The /e modifier is deprecated, use preg_replace_callback instead in _filter_pubdlcnt() (line 50 of /home/amnestyo/domains/amnesty.or.th/public_html/old/sites/all/modules/contrib/pubdlcnt/pubdlcnt.module).
  • Deprecated function: preg_replace(): The /e modifier is deprecated, use preg_replace_callback instead in _filter_pubdlcnt() (line 50 of /home/amnestyo/domains/amnesty.or.th/public_html/old/sites/all/modules/contrib/pubdlcnt/pubdlcnt.module).

THE GOOD LIE: หลอกโลกให้รู้จักรัก (และความจริงอันแสนเจ็บปวด)

หมวดหมู่ : บล็อก

THE GOOD LIE
หลอกโลกให้รู้จักรัก (และความจริงอันแสนเจ็บปวด)

โดย Cher
นักกิจกรรมแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย

กรณีที่ดีที่สุดที่เกิดขึ้นได้กับผู้ลี้ภัยในชีวิตจริง
(Spoiler Alert)

          เมื่อวันที่ 26 มิถุนายนที่ผ่านมา แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชันแนลประเทศไทย จัดกิจกรรมฉายภาพยนตร์เรื่อง “หลอกโลกให้รู้จักรัก” (The Good Lie) ที่หอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร   ภาพยนตร์ดังกล่าวสร้างขึ้นจากเหตุการณ์จริง นั่นก็คือสงครามกลางเมืองซูดานครั้งที่สอง (The Second Sudanese Civil War) ที่เกิดขึ้น ในช่วงปี ค.ศ. 1983-2005 ณ ประเทศซูดาน ซึ่ง“คร่าชีวิตกว่าสองล้านชีวิต และกินเวลายาวนานถึง 22 ปี”1  และความรุนแรงจากสงครามก็ทำให้ “ชาวซูดานถึง 600,000 คนจำต้องพลัดพรากจากถิ่นที่อยู่เดิมของตน”2  สงครามดังกล่าวถือเป็นสงครามกลางเมืองที่รุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์มนุษยชาติครั้งหนึ่ง และภาพยนตร์เรื่อง The Good Lie ก็พาเราร่วมเดินทางไปกับผู้อพยพกลุ่มหนึ่งซึ่งเป็นเหยื่อความรุนแรงของสงคราม  แต่ผู้อพยพกลุ่มดังกล่าวกลับถือว่าเป็น ‘กลุ่มผู้โชคดี’

          ระหว่างสงครามกลางเมืองซูดานครั้งที่สอง เด็กๆจำนวนมากจำต้องพึ่งพาตัวเองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้  เพราะทั้งผู้ใหญ่และเด็กต่างถูกสังหาร  ตัวละครหลักในภาพยนตร์ดังกล่าวก็เผชิญชะตากรรมเดียวกันนี้ พิษของสงครามทำให้หมู่บ้านของพวกเขาถูกเผาเป็นตอตะโก พ่อแม่ ญาติพี่น้อง รวมถึงเพื่อนถูกฆ่าตาย และเด็กบางคนก็เป็นพยานในเหตุการณ์สยองขวัญดังกล่าว โดยเห็นคนที่พวกเขารักถูกพรากชีวิตไปต่อหน้าต่อตา

          ธีโอ เจราไมห์ มาแมร์ พอล อาบิแทล และเด็กคนอื่นๆซึ่งเป็นผู้รอดชีวิต หลบหนีออกมาจากหมู่บ้านที่ถูกทำลาย  พวกเขาออกเดินทางไปยังสถานที่ที่ปลอดภัย นั่นหมายความว่าจะต้องเดินเท้าเปล่าไกลถึง 600 ไมล์ (965 กิโลเมตร) เพื่อไปให้ถึงค่ายผู้ลี้ภัย Kakuma ที่ชายแดนประเทศเคนย่า และระหว่างทางพวกเขาก็ต้องเสี่ยงชีวิต เพราะติดอยู่ในประเทศที่มีสงครามกลางเมือง แน่นอน (และน่าเศร้า) ว่าสงครามกลางเมืองก็ไม่ปล่อยให้ทุกคนพ้นเงื้อมมือมัจจุราช เด็กๆ หลายคนถูกฆ่าระหว่างทาง และคนที่เหลือก็ต้องทำทุกอย่างเพื่อเอาชีวิตรอดอย่างดื่มน้ำปัสสาวะ ว่ายน้ำข้ามแม่น้ำที่มีศพลอยเกลื่อน และยอมให้พี่ใหญ่อย่างธีโอถูกกองกำลังนำตัวไป (เพราะเขาพยายามช่วยมาแมร์ น้องชายของตน) โดยที่ไม่มีใครสามารถล่วงรู้ชาตะกรรมของเขาได้เลย

          เจราไมห์ มาแมร์ พอล และอาบิแทล เดินทางมาถึงค่ายผู้ลี้ภัย Kakuma ณ ประเทศเคนย่าสำเร็จ หลังจากนั้น พวกเขาก็ใช้ชีวิตอยู่ที่ค่ายเป็นเวลาสิบสามปี ก่อนที่จะได้สถานะผู้ลี้ภัยและย้ายไปอเมริกา ซึ่งถือเป็นเรื่องโชคดีมาก เพราะพวกเขาเป็นผู้อพยพชาวซูดานกลุ่มสุดท้ายที่ได้รับสถานะผู้ลี้ภัยก่อนที่จะเกิดเหตุโศกนาฏกรรมเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2011 (สหรัฐฯ กลับมาให้สถานะผู้ลี้ภัยแก่ชาวซูดานอีกครั้งในปี 2003) แต่ถึงอย่างไร เวลาสิบสามปีในวัยเด็กที่จำต้องสูญเสียและถูกทำลายลงก็ไม่สามารถนำกลับมาได้อีกแล้ว

          หลังจากที่พวกเขามาถึงที่สหรัฐฯ ก็มีจดหมายฉบับหนึ่งส่งมาหา  เล่าว่าธีโอ พี่ชายที่เคยถูกกองกำลังจับตัวไป กลับมาตามหาพวกเขาที่ค่าย  เมื่อรู้เช่นนั้นมาแมร์จึงตัดสินใจบินกลับไปยังเคนย่า และพยายามหาสถานทูตที่จะออกวีซ่าให้ธีโอบินกลับไปอยู่กับทุกคนที่อเมริกา  อย่างไรก็ดี ไม่มีสถานทูตใดสามารถออกวีซ่าให้ธีโอได้ มาแมร์จึงตัดสินใจให้ธีโอปลอมแปลงเป็นตัวเขาและบินไปอเมริกาแทน   เขายินดีที่จะตอบแทนที่ครั้งหนึ่งธีโอเคยช่วยชีวิตเขาเอาไว้ ไม่ให้ถูกกองกำลังจับตัวไป  สุดท้ายแล้วธีโอก็ได้เจอกับพี่น้องคนอื่นๆอีกครั้งที่สหรัฐ  ส่วนมาแมร์ก็อยู่ที่ประเทศเคนย่า

          กระนั้นก็ดี นี่เป็นกรณีที่โชคดีที่สุดกรณีหนึ่งที่สามารถเกิดขึ้นได้กับผู้ลี้ภัย หลังจากที่พวกเขาเอาชีวิตรอดจากการสังหารหมู่  ได้เจอกับพี่ชายที่พัดพรากจากไปนานเป็นสิบปี และได้ออกจากค่ายลี้ภัยไปเริ่มต้นชีวิตใหม่ พวกเขาถือเป็นผู้ลี้ภัยที่โชคดีมากแล้ว เพราะในความเป็นจริง ไม่ใช่ทุกคนที่รอดชีวิตจากสงครามกลางเมือง ไม่ใช่ทุกคนที่ได้รับสถานะผู้ลี้ภัยในอเมริกา(หรือประเทศอื่นๆที่รับผู้ลี้ภัย) และไม่ใช่ทุกคนที่จะได้กลับมาเห็นหน้าคนที่เขารักอีกครั้ง หลังจากที่สงครามพรากทุกสิ่งอย่างไปจากชีวิต

 

แค่ความรักยังไม่พอ: สภาพจริงในค่ายผู้อพยพ Kakuma

           “ฉันเหมือนสมัครใจมาอยู่ในคุก ฉันยังเด็กนักเมื่อฉันมาถึงที่นี่ [ค่ายผู้อพยพ] เมื่อสิบสี่ปีที่แล้ว แต่มันเปลี่ยนไปแล้ว ตอนนี้ฉันไม่เห็นว่าเรามีเหตุผลอะไรที่จะเฉลิมฉลองวันผู้อพยพ ฉันเกลียดชีวิต’

          Elias ผู้อพยพชาวเอธิโอเปีย ณ ค่ายผู้อพยพ Kakuma กล่าว”4

          ในภาพยนตร์ The Good Lie ไม่ได้กล่าวถึงสถานการณ์ในค่ายผู้ลี้ภัยมากนัก ในความเป็นจริงนอกภาพยนตร์ ถึงแม้ว่าค่ายผู้อพยพ Kakuma จะเป็นที่พักพิงให้แก่ผู้อพยพนับแสน แต่ ณ ขณะที่ความขัดแย้งในประเทศซูดานยังไม่สิ้นสุดลง และผู้ลี้ภัยชาวซูดานจำนวนมากก็ยังคงไหลหลั่งเข้ามา รวมถึงผู้ลี้ภัยจาก“ทั่วทวีปแอฟริกาตะวันออก ทำให้มีจำนวนผู้อพยพกว่า 182,000 คน” (UNHCR, pers. comm.)5 อยู่ในค่าย  

          จากการศึกษาความเสี่ยงในปี 2015 โดย World Food Programme (WFP) และ United Nations High Commissioner for Refugees (UNHCR) พบว่าผู้ลี้ภัยที่ค่าย Kakuma มีสภาพความเป็นอยู่ย่ำแย่ ยกตัวอย่างเช่น “ในสัปดาห์ที่ผ่านมา ครัวเรือนต่างๆจำนวน 51% ต้องอดอาหารอย่างหนัก พวกเขาไม่มีผักผลไม้ใดให้กิน นอกจากหัวหอม”  “แค่ 6% สามารถหารายได้เพียงพอจ่ายค่าอาหารทั้งหมด 15% มีรายได้เพียงพอต่อค่าอาหารครึ่งหนึ่ง และ 31% สามารถจ่ายค่า NFIs ได้” และในสรุปของรายงานก็กล่าวไว้ว่า “ถ้าหากครัวเรือนต่างๆไม่สามารถออกไปใช้ชีวิตนอกค่ายผู้ลี้ภัยได้ สถานการณ์ที่เป็นอยู่ก็ไม่น่ามีแนวโน้มจะเปลี่ยนแปลงในอนาคต”   ในบทความ “Life in the Kakuma Refugee Camp” ที่เขียนโดย Qaabata Boru นักหนังสือพิมพ์ชาวเอธิโอเปียผู้ลี้ภัยอยู่ในประเทศเคนย่า กล่าวว่า“ที่นั่น [ค่ายผู้ลี้ภัย Kakuma] ไม่มีโครงสร้างพื้นฐานที่ดี สิทธิมนุษยชนอ่อนปวกเปียก ดังนั้นถึงแม้ว่าจะมีการข่มขืนและการคุกคามทางเพศเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ก็ไม่มีใครรับรู้ว่ามีเหยื่อจำนวนเท่าใด”

          ชีวิตจริงของผู้ลี้ภัย ณ ค่าย Kakuma ไม่ได้โชคดีเหมือนในหนัง ผู้คนที่นั่นยังต้องอาศัยในสภาพที่แย่ หลายคนต้องรอนานนับสิบปีกว่าจะได้รับสถานะผู้ลี้ภัย ณ ประเทศที่อ้าแขนรับ   หลายๆคนยังประสบกับความบอบช้ำทางจิตใจที่ยังตามหลอกหลอนอยู่  และบางครั้งประสบการณ์เลวร้ายที่เจอมาตามหลอกหลอนไปตลอดชีวิต   

           “คุณเห็นเด็กชายคนนั้นมั๊ย?’ ชายคนหนึ่งถาม

           ‘เขาถูกบังคับให้ดื่มเลือดของผู้ชายที่ถูกฆ่าต่อหน้าเขา เขาเลยกลายเป็นบ้า” ผู้ลี้ภัยคนหนึ่งกล่าวต่อนักหนังสือพิมพ์ National Geographic  

           “ผู้คนมองเห็นแค่บาดแผลบนร่างกาย แต่สงครามสามารถพรากจิตวิญญาณของมนุษย์ไปได้ พวกเขาไม่รู้หรอกว่าบาดแผลภายในอาศัยเวลาทั้งชีวิตกว่าจะเยียวยา”6 Emmanuel Jal ผู้แสดงเป็นพอลในภาพยนตร์กล่าว (เขาเป็นผู้ลี้ภัยชาวซูดานในชีวิตจริงด้วย)

 

หันกลับมามองบ้านเรา

          ตามสถิติจาก UNHCR ในปี 2014 ทั่วโลกมีผู้คนหกสิบล้านคนที่ถูกบังคับให้ต้องละทิ้งถิ่นฐานของตน และในปีเดียวกันนั้นไทยก็มีผู้ลี้ภัยอยู่ในประเทศเป็นจำนวน 130,238 คน   อย่างไรก็ดีไทยเพียงแค่ลงนามในอนุสัญญาว่าด้วยผู้ลี้ภัยปี 1951 และพิธีสารปี 1967 แต่ไม่ได้ให้สัตยาบัน นั่นก็หมายความว่าประเทศไทยเห็นด้วยต่อเนื้อหาของอนุสัญญาและพิธีสารดังกล่าว และไม่มีข้อผูกพันใดให้ต้องปฏิบัติตาม

          อนุสัญญาว่าด้วยผู้ลี้ภัยปี 1951 ให้คำจำกัดความเกี่ยวกับคำว่าผู้ลี้ภัย (refugee) หากจะกล่าวคร่าวๆ ณ ที่นี้ ผู้ลี้ภัยก็คือบุคคลที่เผชิญเหตุการณ์ที่เป็นภัยต่อชีวิต จึงต้องละทิ้งถิ่นฐานเดิม (เหมือนกับชาวซูดานในภาพยนตร์ The Good Lie ที่หนีสงครามกลางเมือง เป็นต้น) และอนุสัญญาดังกล่าวก็จะทำให้รัฐบาลประเทศที่ให้สัตยาบันต้องไม่บีบบังคับให้ผู้ลี้ภัยกลับไปยังถิ่นฐานเดิมที่จากมา และต้องรับรองสิทธิขั้นพื้นฐานบางอย่างให้แก่ผู้ลี้ภัย เช่น ที่พักพิง อาหาร เครื่องดื่ม การเข้าถึงการบริการทางการแพทย์ และการศึกษา เป็นต้น

          ถึงแม้ว่าประเทศไทยจะยังไม่ได้ให้สัตยาบัน แต่ไทยก็จัดตั้งค่ายผู้ลี้ภัยเก้าแห่งตามชายแดนไทยพม่า มีผู้ลี้ภัยชาวพม่าอยู่ราว 90,000 คน อย่างไรก็ดี สภาพที่เป็นอยู่ตามค่ายต่างๆเหล่านี้ก็ยังถือว่า ‘สามารถปรับปรุงให้ดีขึ้นได้อีกมาก’ ตามรายงานของ Human Rights First กล่าวว่า “สภาพความเป็นอยู่ในค่ายอยู่ในภาวะวิกฤติ เราได้รับรายงานว่าที่ค่ายแห่งหนึ่งผู้อพยพมากกว่า 1400 คน ที่ต้องอยู่รวมกันในที่พักที่มีพื้นที่และอาหารเพียงพอต่อคนแค่ 700 คน”  นอกจากนี้ ในรายงานของ Human Rights Watch ปี 2012 “Ad Hoc and Inadequate Thailand’s Treatment of Refugees and Asylum Seekers” ก็กล่าวว่า “ผู้ลี้ภัยในค่ายลี้ภัยที่ไทยต้องพบเจอกับความทารุณจากผู้ลี้ภัยด้วยกันเอง” และ “ความกำกวมของกฎหมาย กฎต่างๆ และการลงโทษในค่ายล้วนทำให้การเข้าถึงความยุติธรรมเป็นเรื่องยาก”  ผู้ลี้ภัยชาวพม่าคนหนึ่งยังกล่าวอีกว่า “พวกเราไม่สามารถพูดอะไรออกมาได้ เราต้องอดทนและยอมตาม ถ้าเราพูดมากเกินไป โซ่ที่ล่ามเราไว้อยู่แล้วจะรัดแน่นขึ้นอีก”

 

สำหรับเราแล้วชีวิตคืออะไร? แค่ความรักอย่างเดียวไม่เพียงพอจริงหรือ?

          เมื่อไม่ถึงปีที่ผ่านมาโลกออนไลน์ในไทยเต็มไปด้วยความเกลียดชังและคำผรุสวาทต่อผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญา ข้าพเจ้ารู้สึกตกใจและสะเทือนใจมากต่อความเกลียดชังดังกล่าว โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมันเป็นความเกลียดชังที่มีต่อกลุ่มคนที่ชีวิตของพวกเขาถูกทำลายลงด้วยความเกลียดชังอยู่แล้ว แต่หลังจากได้ดูภาพยนตร์เรื่อง The Good Lie และมองย้อนกลับไปก็ตระหนักได้ว่าหากเราต้องการทลายกำแพงความเกลียดชัง เราต้องสร้างความเห็นอกเห็นใจบนพื้นฐานที่ว่า ‘คนเรามีอะไรเหมือนกันมากกว่าแตกต่างกัน’

          ผู้ลี้ภัยต้องเผชิญความยากลำบากแบบที่เราแทบจะจินตนาการไม่ได้ สิ่งที่พวกเขาต้องเผชิญอยู่พ้นไปจากกรอบความคิดต่อ ’ชีวิต’ ที่เรามีอยู่ สิ่งที่กำลังจะกล่าวต่อไปนี้อาจเป็นประโยคที่เราได้ยินกันมาซ้ำแล้วซ้ำเล่า แต่สิ่งที่เราไม่ได้เห็นคุณค่าอะไรมากมายเป็นสิ่งที่มีค่าเหลือล้ำต่อผู้ลี้ภัย ความยากลำบากสำหรับเราคือการเลิกกับแฟน หางานใหม่ที่ดีกว่าเดิม ผ่อนรถ จ่ายหนี้ ในขณะที่ผู้ลี้ภัยเสี่ยงต่อการลาจากกับคนที่รักตลอดชีวิต หนีความตาย และหาที่ที่สามารถให้ความปลอดภัยในชีวิต

          สิ่งที่เราทุกคนมีร่วมกันคือคือการดิ้นรนเพื่อชีวิตที่ดีกว่าเดิม และเราก็ควรมีสิทธินั้น แต่สำหรับผู้ลี้ภัยแล้ว แค่ความต้องการมีชีวิตที่ปลอดภัยก็ถือเป็นเรื่องที่ยากลำบากมากแล้ว

          ลองถามตัวเองดูว่าเราจะทำอย่างไรเมื่อต้องเผชิญหน้ากับความตายที่ถูกยัดเยียดให้ จะทำยังไงหากเผอิญเกิดมาในประเทศที่มีสงครามกลางเมือง จะทำยังไงถ้าเราไม่ได้ทำอะไรผิดแต่กลับตกเป็นเหยื่อความรุนแรง และเราจะยอมทำขนาดไหนเพื่อให้มีชีวิตรอดอยู่ได้

          ไม่มีใครอยากจากบ้านของตัวเองและมาใช้ชีวิตในค่ายผู้อพยพ หรือล่องเรือร่อแร่อยู่กลางมหาสมุทร ไม่มีใครอยากให้วัยเด็กของตนถูกทำลายลงไม่เหลือซากและความฝันถูกบดขยี้ ชีวิตเป็นเรื่องยากสำหรับคนทุกคน แต่ทำไมเราต้องทำให้ความเกลียดชังทำให้ทุกอย่างแย่ลงไปอีก

          สำหรับผู้อพยพชาวซูดานในภาพยนตร์เรื่องหลอกโลกให้รู้จักรัก ความรักทำให้พวกเขายังเดินต่อไป และในชีวิตจริงก็คงเป็นเช่นนั้นด้วย แต่แค่ความรักจากผู้อพยพด้วยกันคงไม่พอ ความรักและความเห็นอกเห็นใจจากเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน จริงแล้วๆอาจเปลี่ยนโลกทั้งใบได้เลย

“ใครก็ตามที่ช่วยชีวิตสักชีวิต คนคนนั้นช่วยโลกทั้งใบเอาไว้”

 

“Whoever saves one life, saves the world entire.”

― Thomas Keneally, Schindler's List

 


แหล่งข้อมูล

1  https://en.wikipedia.org/wiki/Second_Sudanese_Civil_War

2  VIRGINIA W. MASON AND KELSEY NOWAKOWSKI, NGM STAFF; ANGELICA QUINTERO. SOURCES: INTERNATIONAL ORGANIZATION FOR MIGRATION (DATA AS OF JULY 2014); UNHCR (DATA AS OF SEPTEMBER 2014); ARMED CONFLICT LOCATION AND EVENT DATA PROJECT (DATA AS OF MID-SEPTEMBER 2014)

3 https://en.wikipedia.org/wiki/Lost_Boys_of_Sudan

4  http://www.fairobserver.com/region/africa/life-kakuma-refugee-camp

5https://www.wfp.org/sites/default/files/Executive%20BriefRefugee%20HH%20Vulnerability%20Study.pdf

6  http://www.people.com/article/the-good-lie-movie-real-life-lost-boys-of-sudan-ger-duany-emmanuel-jal-reese-witherspoon

Other sources

- http://news.nationalgeographic.com/news/special-features/2014/10/141001-south-sudan-dinka-nuer-ethiopia-juba-khartoum/

- https://www.wfp.org/sites/default/files/Executive%20Brief-Refugee%20HH%20Vulnerability%20Study.pdf

- http://popstats.unhcr.org/en/overview#_ga=1.108453831.415418952.1467556295

- https://www.humanrightsfirst.org/wp-content/uploads/pdf/Thailand.pdf

- https://www.hrw.org/sites/default/files/reports/thailand0912.pdf

 

ป้ายคำ: 

  • ผู้ลี้ภัย
  • สิทธิผู้ลี้ภัย
  • ผู้อพยพ
  • ซูดาน
  • สงครามกลางเมืองซูดาน
  • โรฮิงญา
  • แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล