Error message

  • Deprecated function: preg_replace(): The /e modifier is deprecated, use preg_replace_callback instead in _filter_pubdlcnt() (line 50 of /home/amnestyo/domains/amnesty.or.th/public_html/old/sites/all/modules/contrib/pubdlcnt/pubdlcnt.module).
  • Deprecated function: preg_replace(): The /e modifier is deprecated, use preg_replace_callback instead in _filter_pubdlcnt() (line 50 of /home/amnestyo/domains/amnesty.or.th/public_html/old/sites/all/modules/contrib/pubdlcnt/pubdlcnt.module).
  • Deprecated function: preg_replace(): The /e modifier is deprecated, use preg_replace_callback instead in _filter_pubdlcnt() (line 50 of /home/amnestyo/domains/amnesty.or.th/public_html/old/sites/all/modules/contrib/pubdlcnt/pubdlcnt.module).
  • Deprecated function: preg_replace(): The /e modifier is deprecated, use preg_replace_callback instead in _filter_pubdlcnt() (line 50 of /home/amnestyo/domains/amnesty.or.th/public_html/old/sites/all/modules/contrib/pubdlcnt/pubdlcnt.module).
  • Deprecated function: preg_replace(): The /e modifier is deprecated, use preg_replace_callback instead in _filter_pubdlcnt() (line 50 of /home/amnestyo/domains/amnesty.or.th/public_html/old/sites/all/modules/contrib/pubdlcnt/pubdlcnt.module).
  • Deprecated function: preg_replace(): The /e modifier is deprecated, use preg_replace_callback instead in _filter_pubdlcnt() (line 50 of /home/amnestyo/domains/amnesty.or.th/public_html/old/sites/all/modules/contrib/pubdlcnt/pubdlcnt.module).

ถกประเด็น “นักโทษทางความคิด-นักโทษทางการเมือง” รำลึก “เนลสัน แมนเดลา”

หมวดหมู่ : ข่าวสิทธิมนุษยชน
ประชาไท

ถกประเด็น “นักโทษทางความคิด-นักโทษทางการเมือง” รำลึก “เนลสัน แมนเดลา”

เมื่อวันศุกร์ที่ 17 กรกฎาคม 2558 แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทยจัดงาน 'Light Up Night: A human rights hero is gone, but his legacy lives on.' ค่ำคืนแห่งแสงเทียน ค่ำคืนแห่งสิทธิมนุษยชน เพื่อรำลึกถึง เนลสัน แมนเดลา ผู้นำและนักปฏิวัติคนสำคัญของโลก ผู้เป็นทั้ง "นักโทษทางความคิด" และ "นักโทษทางการเมือง" ตามคำนิยามของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล  ภายในงานเริ่มด้วยดนตรีเบาๆ จากอาสาสมัคร ก่อนเปิดเวทีเสวนา "นักโทษทางการเมือง นักโทษทางความคิดและสิทธิมนุษยชน" โดยอดีตผู้ได้รับความช่วยเหลือจากแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล อาจารย์วิโรจน์ ตั้งวาณิชย์ คุณสมชาย หอมลออ และสองผู้เคลื่อนไหวผ่านสันติวิธี ดร.ประทับจิต นีละไพจิตร และคุณกิตติชัย งามชัยพิสิฐ ร่วมพูดคุย

นอกจากนั้นภายในงานมีมุมปฏิบัติการด่วน (Urgent Action) เพื่อเรียกร้องทางการอียิปต์ปล่อยตัวผู้ประท้วงซึ่งเป็นเยาวชนหญิง 3 คน ซึ่งถูกจับกุมและถูกสั่งจำคุก เนื่องจากการร่วมชุมนุมอย่างสงบในการต่อต้านรัฐบาลทหารที่ได้เข้ามาดำรงตำแหน่งใหม่ที่มหาวิทยาลัยแมนซอรา พร้อมทั้งเชิญชวนผู้ร่วมงานร่วมกันเขียนโปสการ์ดให้กำลังใจนักศึกษาและนักกิจกรรม 16 คนและครอบครัวของพวกเขา

สำหรับเนลสัน แมนดาลา เคยเป็นทั้งนักโทษทางความคิดและนักโทษทางการเมืองของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ในช่วงแรกที่เนลสันเคลื่อนไหวในทางสันติ และถูกจับกุม แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลได้รับรองให้เนลสันเป็นนักโทษทางความคิดและเรียกร้องให้รัฐบาลปล่อยโดยทันทีอย่างไม่มีเงื่อนไข แต่ต่อมาเมื่อเขากลายมาเป็นผู้นำกลุ่มกองกำลังติดอาวุธ และได้มีส่วนร่วมในกิจกรรมต่อต้านใต้ดินโดยใช้อาวุธ เช่นการก่อวินาศกรรม จนถูกประณามจากผู้นำต่างชาติว่าเป็น “การก่อการร้าย” และถูกจับกุม แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลถือว่าเขาเป็นนักโทษทางการเมือง จึงเรียกร้องให้มีการไตร่สวนอย่างโปร่งใสและเป็นธรรม

ในเดือนพฤศจิกายน 2549 แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลประกาศให้เนลสัน แมนเดลาเป็น “ทูตแห่งมโนธรรมสำนึก” (‘Ambassador of Conscience’) เพื่อเป็นการยกย่องการทำงานด้านสิทธิมนุษยชนในช่วงหลายปีที่ผ่านมา สำหรับการเรียกร้องให้แก้ปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ไม่เฉพาะในแอฟริกาใต้แต่ทั่วทั้งโลก

“การเสียชีวิตของเนลสัน แมนเดลา ไม่เพียงเป็นการสูญเสียสำหรับแอฟริกาใต้ แต่เป็นความสูญเสียสำหรับประชาชนทุกคนในโลกซึ่งกำลังต่อสู้เพื่อเสรีภาพ ความยุติธรรม และเพื่อยุติการเลือกปฏิบัติ พันธกิจของเนลสัน แมนเดลาที่มีต่อสิทธิมนุษยชน เห็นได้ชัดเจนจากเจตจำนงอันแน่วแน่ที่จะขจัดความไม่เท่าเทียมเนื่องจากเชื้อชาติในยุคการเหยียดผิว ตามมาด้วยคุณูปการใหญ่หลวงในการต่อสู้กับปัญหาเอชไอวี/เอดส์ในแอฟริกาใต้ มรดกที่ท่านทิ้งไว้ทั่วทั้งแอฟริกาและทั่วโลก ที่จะดำรงสืบไปอีกหลายชั่วอายุคน”  ซาลิล เช็ตติ (Salil Shetty)เลขาธิการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล 

อาจารย์วิโรจน์ ตั้งวาณิชย์ หนึ่งในนักโทษทางความคิดที่ได้รับความช่วยเหลือจากแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล สมัยที่ถูกจับกุมเมื่อ 6 ตุลาคม 2519 และถูกคุมขังนาน 2 ปีโดยไม่มีการพิพากษาความผิด ทั้งยังต้องต้องขึ้นศาลทหาร จึงรู้สึกแปลกใจที่ยังมีนักโทษทางความคิดอยู่ในสังคมไทย เพราะเคยมองว่า คนรุ่น 6 ตุลา น่าเป็นนักโทษทางความคิดรุ่นสุดท้ายของสังคม

 “ในยุคก่อน 14 ตุลาคม 2516 ประชาชนยังไม่ค่อยรู้จักคำว่า “สิทธิมนุษยชน” โดยทั่วไปประชาชนคนรู้จักเพียงแค่ 3 คำคือ ‘ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์’ ต่อมาเมื่อประชาชนเริ่มรู้จักสิทธิมนุษยชนและมีเสรีภาพทางความคิดมากขึ้น การปราบปรามโดยรัฐจึงตามมาอย่างที่ขึ้นเกิดสมัย 9 ตุลาคม 2519 ในช่วงนั้นมีรัฐเผด็จการ ประชาชนนักศึกษาถูกกดทับทางความคิด ปิดกั้นการแสดงออกทางความคิด พร้อมกับการกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ จึงเกิดเป็นบรรยากาศของการสร้างความเกลียดชัง การมองเห็นคนไม่เป็นคน ในที่สุดนำมาซึ่งการล้อมปราบนักศึกษา และจับกุมนักศึกษาเป็นนักโทษทางการเมืองนับพันคน และมีจำนวน 19 คน ที่ถูกตั้งข้อกล่าวหาอย่างรุนแรง ทำให้ถูกจำคุกเป็นเวลา 2 ปี โดยที่ยังไม่มีการพิพากษา”

คุณสมชาย หอมลออ ซึ่งเป็นหนึ่งในประชาชนอีกชุดที่ถูกจับกุมและคุมขังในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ระบุว่าแม้ว่าในยุคนั้นจะมีการปิดกั้นข้อมูลข่าวสารภายในประเทศไทย แต่นานาชาติต่างรับรู้สิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศไทยเป็นอย่างดี อาจกล่าวได้ว่า คนไทยประเทศรับรู้ข่าวสารในประเทศของตนน้อยกว่าคนต่างชาติเสียอีก ในช่วงนั้นแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เริ่มเข้ามามีส่วนช่วยเหลือนักศึกษาและประชาชนที่ถูกจับกุม โดยสิ่งแรกๆ ที่เรียกร้องคือ ให้นักศึกษาที่ถูกจับกุมคุมขังสามารถมือทนายความได้ นอกจากนั้นยังเรียกร้องให้มีการปล่อยตัวนักศึกษาตัวอย่างไม่มีเงื่อนไข โดยระบุว่าเป็นนักโทษทางความคิด ซึ่งมีจดหมายส่งมาจากต่างประเทศถึงรัฐบาลไทยนับ 100,000 ฉบับเลยทีเดียว

“แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลยึดหลักการที่ว่า เสรีภาพทางความคิด เป็นเสรีภาพที่มีความสำคัญที่สุด และเป็นเสรีภาพที่สัมบูรณ์ คือเป็นเสรีภาพที่ไม่อาจจะจำกัดได้ ไม่ว่าจะเป็นคน เป็นองค์กร หรือเป็นรัฐก็ตาม เพราะบุคคลมีเสรีภาพที่จะคิดที่จะเชื่อ ตราบเท่าที่การคิดการเชื่อนั้นเป็นไปอย่างสันติวิธี ไม่ส่งเสริมความรุนแรงและความเกลียดชัง ถ้ารัฐเข้ามาจำกัดเสรีภาพเหล่านี้โดยการจับกุมคุมขัง นั่นเท่ากับว่ารัฐกำลังจับกุมนักโทษทางความคิด ต่อกรณีนี้จุดยืนของแอมเนสตี้ฯ คือเรียกร้องให้ปล่อยตัวทันทีโดยไม่มีเงื่อนไข ซึ่งนักโทษทางความคิดแตกต่างจากนักโทษทางการเมืองคือ นักโทษทางการเมืองอาจจะมีการใช้ความรุนแรงร่วมด้วย เช่นที่ เนลสัน แมนดาลาที่ก็เคยใช้ความรุนแรง แต่ว่าจุดยืนของแอมเนสตี้ฯ และองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนอื่นๆ มองเห็นว่าคนเหล่านี้อาจจะไม่ได้ทำผิดจริงก็ได้ หรืออาจจะไม่ได้ใช้ความรุนแรงจริงก็ได้แต่ถูกกลั่งแกล้งโดยการตั้งข้อหา ดังนั้นสิ่งที่แอมเนสตี้ฯ เรียกร้องสำหรับนักทาประเภทนี้คือ ต้องได้รับการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรม เช่น ต้องไม่ขึ้นศาลทหาร เพราะตามหลักสากล ศาลทหารมีไว้เพื่อพิจารณาคดีทหารที่ทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาทหารเท่านั้น”

ขณะที่คุณกิตติชัย งามชัยพิสิษฐ นักเคลื่อนไหวด้านสันติวิธี เปิดเผยว่านักโทษทางความคิดส่วนใหญ่เลือกใช้สันติวิธีในการเคลื่อนไหว โดยสันติวิธีมีด้วยกัน 3 แบบ ได้แก่ 1.การชักจูงคนทั่วไปเพื่ออภิปรายและถกเถียงอย่างมีเหตุผล ซึ่งเป็นวิธีที่ยากที่สุด 2.การไม่ให้ความร่วมมือกับรัฐ เช่น การไม่จ่ายภาษี การไม่ปฏิบัติตามข้อกฎหมายที่ไม่มีความชอบธรรม และ 3.การแทรกแซงด้านการแสดงเชิงสัญลักษณ์ เช่น การชูสามนิ้ว เป็นต้น ซึ่งทั้งหมดจำเป็นต้องมีการวางแผนและประเมินสถานการณ์อย่างรอบคอบจึงจะประสบความสำเร็จ

“การที่จะออกมาเคลื่อนไหวและกลายเป็นนักโทษทางความคิด อย่างกรณีของกลุ่มดาวดิน กรณีกลุ่มขบวนการประชาธิปไตยใหม่ หรือคนที่กำลังโดนเล่นงานอีกหลายคน ไม่ใช่ว่าจะเกิดขึ้นได้ง่ายๆ เช่นอยู่ดีๆ ก็ออกมาพูดเพราะมีเบื้องหลัง มีคนจ้างมา แต่มีกระบวนการในการเรียนรู้ปัญหาสังคม และตั้งคำถามกับปัญหาที่เกิดขึ้น เช่น การไปพบเจอกับปัญหาสิ่งแวดล้อม การให้สัมปทานเหมืองแร่ทองคำ การให้สัมปทานปิโตรเลียม ฉะนั้นการออกมาเคลื่อนไหวของกลุ่มดาวดินมีเบื้องหลังมาจากปัญหาทางสังคมเหล่านี้ ปัจจัยต่างๆ ที่หล่อหลอมพวกเขามา ทำให้เขามีความรู้สึกใส่ใจกับความเป็นมนุษย์ของคนอื่น เขาจึงเลือกเคลื่อนไหวแบบสันติวิธีโดยที่อาจจะไม่ได้เรียนเรื่องสันติวิธีมาโดยตรง แต่โดยพื้นฐานแล้ว เขายอมรับในหลักการเคารพความเป็นมนุษย์ของผู้อื่น คนควรเท่าเทียมกัน คนควรมีสิทธิเสรีภาพ คนจะได้พูดในสิ่งที่ตัวเองไม่เห็นด้วย ฉะนั้นด้วยความเชื่อแบบนี้ถ้าเขาไปใช้ความรุนแรงนั่นแปลว่าเขาไม่ได้ทำในสิ่งที่เขาเชื่อ สันติวิธีจึงเกิดขึ้นเองด้วยความเชื่อว่าคนเท่ากัน”

ด้านดร. ประทับจิต นีละไพจิตร สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษามหาวิทยาลัยมหิดล ระบุว่านักโทษทางความคิดและนักโทษทางการเมืองไม่แตกต่างกันมากนัก เพราะเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับเสรีภาพด้านความคิดและการกระทำเหมือนกัน ซึ่งนักโทษทางความคิดส่วนใหญ่ก็มาจากความคิดทางการเมืองนั่นเอง นอกจากนี้ ยังตั้งข้อสังเกตด้วยว่าการคุกคามคนเห็นต่างของรัฐเปลี่ยนจากวิธีการที่โจ่งแจ้งอย่างลอบยิงหรืออุ้มมาในอดีตมาสู่คุกคามที่แนบเนียนมากขึ้นในปัจจุบัน ตลอดจนเข้าถึงคนระดับรากหญ้ามากขึ้นด้วย จากเมื่อก่อนที่จะมุ่งปราบปรามเฉพาะระดับแกนนำเท่านั้น

“การพุ่งเป้ามาที่คนธรรมดาทั่วไปจากเดิมที่จำกัดเฉพาะเพียงแกนนำ ทั้งนี้ เป็นไปเพื่อการสร้างบรรยากาศของความหวาดกลัว โดยเปลี่ยนวิธีการในการจำกัดสิทธิเสรีภาพ ให้เป็นเรื่องที่ถูกต้องตามกฎหมาย แม้การถูกลอบยิง หรืออุ้มหาย จะลดน้อยลงในช่วงหลัง แต่ไม่ได้เป็นสัญญาณที่ดี เนื่องจากรัฐเปลี่ยนรูปแบบในการจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชน และขยายวงจากการจำกัดที่แกนนำไปสู่คนทั่วไป ในสภาพการณ์ที่สังคมมีข้อจำกัดในการแสดงออก และแต่ละคนมีความคิดที่แตกต่างกันเช่นนี้ วิธีการหนึ่งที่จะผสานความขัดแย้งในสังคมได้ก็คือการมองสมาชิกของสังคมลงไปยังรากลึกเพื่อหาจุดร่วม ซึ่งสุดท้ายแล้วจะพบว่าสิ่งที่ทุกคนมีเหมือนกันนั่นก็คือความเป็นมนุษย์นั่นเอง”

ทั้งนี้ หลังจากการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ผู้เข้าร่วมทุกคนยังได้ร่วมกันทำกิจกรรม “Toast to Freedom” ซึ่งเป็นการดื่มเฉลิมฉลองให้กับเสรีภาพและสิทธิมนุษยชนตามธรรมเนียมของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลอีกด้วย

ชมประมวลภาพกิจกรรมได้ที่นี่ http://on.fb.me/1Kt9kWp

ป้ายคำ: 

  • นักโทษทางความคิด
  • นักโทษทางการเมือง
  • เนลสัน แมนดาลา
  • วิโรจน์ ตั้งวาณิชย์
  • สมชาย หอมลออ
  • กิตติชัย งามชัยพิสิษฐ
  • ประทับจิต นีละไพจิตร