Error message

  • Deprecated function: preg_replace(): The /e modifier is deprecated, use preg_replace_callback instead in _filter_pubdlcnt() (line 50 of /home/amnestyo/domains/amnesty.or.th/public_html/old/sites/all/modules/contrib/pubdlcnt/pubdlcnt.module).
  • Deprecated function: preg_replace(): The /e modifier is deprecated, use preg_replace_callback instead in _filter_pubdlcnt() (line 50 of /home/amnestyo/domains/amnesty.or.th/public_html/old/sites/all/modules/contrib/pubdlcnt/pubdlcnt.module).
  • Deprecated function: preg_replace(): The /e modifier is deprecated, use preg_replace_callback instead in _filter_pubdlcnt() (line 50 of /home/amnestyo/domains/amnesty.or.th/public_html/old/sites/all/modules/contrib/pubdlcnt/pubdlcnt.module).
  • Deprecated function: preg_replace(): The /e modifier is deprecated, use preg_replace_callback instead in _filter_pubdlcnt() (line 50 of /home/amnestyo/domains/amnesty.or.th/public_html/old/sites/all/modules/contrib/pubdlcnt/pubdlcnt.module).
  • Deprecated function: preg_replace(): The /e modifier is deprecated, use preg_replace_callback instead in _filter_pubdlcnt() (line 50 of /home/amnestyo/domains/amnesty.or.th/public_html/old/sites/all/modules/contrib/pubdlcnt/pubdlcnt.module).
  • Deprecated function: preg_replace(): The /e modifier is deprecated, use preg_replace_callback instead in _filter_pubdlcnt() (line 50 of /home/amnestyo/domains/amnesty.or.th/public_html/old/sites/all/modules/contrib/pubdlcnt/pubdlcnt.module).
  • Deprecated function: preg_replace(): The /e modifier is deprecated, use preg_replace_callback instead in _filter_pubdlcnt() (line 50 of /home/amnestyo/domains/amnesty.or.th/public_html/old/sites/all/modules/contrib/pubdlcnt/pubdlcnt.module).
  • Deprecated function: preg_replace(): The /e modifier is deprecated, use preg_replace_callback instead in _filter_pubdlcnt() (line 50 of /home/amnestyo/domains/amnesty.or.th/public_html/old/sites/all/modules/contrib/pubdlcnt/pubdlcnt.module).

13 ปีวันยุติโทษประหารชีวิตสากล: รณรงค์ยุติโทษประหารชีวิตในไทยผ่านเลนส์ภาพยนตร์ "เพชฌฆาต"

หมวดหมู่ : ข่าวสิทธิมนุษยชน

13 ปีวันยุติโทษประหารชีวิตสากล:

รณรงค์ยุติโทษประหารชีวิตในไทยผ่านเลนส์ภาพยนตร์ "เพชฌฆาต"

“การประหารชีวิตไม่ได้ยับยั้งอาชญากรรมที่รุนแรง หรือทำให้สังคมปลอดภัยขึ้น แต่ยังส่งผลกระทบที่เลวร้ายต่อสังคม การที่รัฐอนุญาตให้มีการประหารบุคคลแสดงถึงการสนับสนุนต่อการใช้กำลังและการส่งเสริมวงจรการใช้ความรุนแรง”

-แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล-

นับเป็นปีที่ 13 แล้วที่มีการกำหนดให้วันที่ 10 ตุลาคมเป็นวันยุติโทษประหารชีวิตยุโรปและสากล โดยมีจุดประสงค์เพื่อเผยแพร่ความเข้าใจในประเด็นโทษประหารชีวิต ซึ่งเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน สิทธิการมีชีวิต เป็นการทรมานร่างกายและจิตใจต่อบุคคลที่เกี่ยวข้อง

ในปี 2558 นี้ คณะผู้แทนสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย และสถานทูตฝรั่งเศส ร่วมกันจัดฉายภาพยนตร์ไทยเรื่อง "เพชฌฆาต" สะท้อนเรื่องราว "การใช้โทษประหารชีวิต" และ “กระบวนการยุติธรรม” ผ่านภาพยนตร์เพื่อเผยแพร่ความเข้าใจเรื่องโทษประหารชีวิต ซึ่งกิจกรรมนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นเล็กๆ ที่เชิญชวนให้เกิดการถกเถียงในสังคมและคิดทบทวนในประเด็นที่มีความละเอียดอ่อนนี้ เพื่อเปิดมุมมองที่หลากหลายในการนำไปสู่การเคารพและปกป้องสิทธิมนุษยชนอย่างแท้จริง

นอกจากการฉายภาพยนตร์แล้ว ยังมีการนำเสนอนิทรรศการภาพ การแสดงละครสั้นจากอาสาสมัครเยาวชนของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นเนล ประเทศไทย และมีการเสวนาพูดคุยแลกเปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับโทษประหารชีวิตหลังการฉายภาพยนตร์จากตัวแทนภาครัฐ  นักแสดง ผู้กำกับภาพยนตร์ และนักวิชาการอีกด้วย ซึ่งถือว่าเป็นโอกาสอันดีที่ตัวแทนจากฝ่ายต่างๆ ได้แลกเปลี่ยนความเห็นและมุมมองต่อประเด็นโทษประหารชีวิต

เอกอัครราชทูตเฆซุส มิเกล ซันส์ หัวหน้าคณะผู้แทนสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย เผยว่า สหภาพยุโรปเป็นหนึ่งในผู้นำของเวทีระหว่างประเทศในการต่อต้านโทษประหารชีวิตมาเป็นระยะเวลานาน เกือบ 2ทศวรรษมาแล้วที่โทษประหารชีวิตถูกยกเลิกในกลุ่มประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป เพราะเห็นว่า โทษประหารชีวิตเป็นสิ่งที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม  ซึ่งน่าผิดหวังอย่างยิ่งที่กระบวนการดังกล่าวยังคงถูกปฏิบัติอยู่ในหลายประเทศทั่วโลก โทษประหารชีวิตเป็นกระบวนการที่ไม่จำเป็น

“สำหรับประเทศไทยมีการยกเลิกโทษประหารชีวิตในผู้กระทำความผิดที่เป็นเด็กและเยาวชนมาเป็นเวลา 3 ปีแล้ว ถือเป็นก้าวใหญ่ของประเทศไทยที่สำคัญเมื่อปีที่แล้วรัฐบาลไทยได้ให้การรับรองในแผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติฉบับที่ 3 ประจำปี 2557-2561 โดยให้คำมั่นสัญญาว่าจะยกเลิกโทษประหารชีวิตในประเทศไทยอีกด้วยสหภาพยุโรปพร้อมที่จะให้การสนับสนุนและทำงานร่วมกับรัฐบาลไทย หน่วยงานตุลาการศาล และภาคประชาสังคม เพื่อไปสู่เป้าหมายร่วมกันของเราในการทำให้โทษประหารชีวิตหมดสิ้นไป”

นายชำนาญ จันทร์เรือง ประธานแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ระบุว่าจากงานวิจัย งานวิชาการ สถิติ และทางอาชญาวิทยาชี้ว่าการลงโทษประหารชีวิตไม่มีนัยสำคัญ ไม่ได้ส่งผลต่อการเพิ่มขึ้นหรือลดลงของคดีอาชญากรรม การพรากชีวิต การลงโทษด้วยการประหารชีวิตเป็นโทษที่รุนแรงเกินไปสำหรับมนุษย์ด้วยกัน ซึ่งการรณรงค์ยกเลิกโทษประหารชีวิตไม่ได้บอกว่าผู้กระทำความผิดเหล่านั้นไม่ได้ทำผิด และไม่ได้ยกโทษให้กับพวกเขา แต่เรียกร้องการเปลี่ยนแปลงวิธีการในการลงโทษผู้กระทำความผิด ที่ไม่ใช่การประหารชีวิต โดยอาจจะตัดสินลงโทษจำคุกลอดชีวิตแทน อย่างน้อยก็ยังมีโอกาสกลับตัว พัฒนาคุณภาพชีวิต และมีโอกาสกลับคืนสู่สังคมได้

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เรียกร้องรัฐบาลไทยให้ดำเนินการตามเจตจำนงที่ระบุไว้ในแผนแม่บทสิทธิมนุษยชนแห่งชาติฉบับที่สามสำหรับปีพ.ศ. 2557-2561 กำหนดถึงการยกเลิกโทษประหารชีวิตไว้ด้วยและขอประกาศพักใช้โทษประหารชีวิตชั่วคราวอย่างเป็นทางการรวมทั้งให้สัตยาบันรับรองพิธีสารเลือกรับฉบับที่สองของกติกา ICCPR ด้วย”

ภาพยนตร์เรื่อง "เพชฌฆาต" ออกฉายครั้งแรกเมื่อปี 2557 ภายใต้การกำกับของทอม วอลเลอร์ ซึ่งสามารถคว้ารางวัลจากเทศกาลภาพยนตร์เวิล์ดพรีเมียร์ 2558 โดยภาพยนตร์สะท้อนชีวิตของ "เชาวเรศน์ จารุบุณย์" เพชฌฆาตแห่งคุกบางขวาง หรือที่รู้จักกันดีในนาม "คุกเสือใหญ่” จากชีวิตที่ผกผันของนักดนตรีหนุ่มผู้หลงใหลในเพลงร็อคแอนด์โรล แล้วเปลี่ยนเส้นทางชีวิตของตนเองสู่การเป็นมือประหารเพื่อความมั่นคงของครอบครัวที่เขารัก ตลอดระยะเวลา 19 ปี เขาประหารชีวิตนักโทษด้วยวิธีการยิงเป้าไปทั้งสิ้น 55 ราย จนกระทั่งปี 2546 มีการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 16) พ.ศ.2546 มาตรา 19 เปลี่ยนการประหารชีวิตจากการยิงเป้ามาเป็นฉีดยาหรือสารพิษให้ตาย โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 19 ตุลาคม 2546 เขาจึงกลายเป็นเพชฌฆาตคนสุดท้ายของเมืองไทย

ในการเสวนาหลังจากดูภาพยนตร์ดังกล่าว นายดอน ลินเดอร์ผู้เขียนบทภาพยนตร์เรื่องเพชฌฆาต ที่ได้มีโอกาสพูดคุยกับเชาวเรศน์ก่อนที่จะเสียชีวิตในปี 2555 บอกว่าคุณเชาวเรศน์ตัวจริงก็เหมือนคนทั่วไปที่เราพบเห็นได้ตามบีทีเอสหรือตามท้องถนน ดอนใช้เวลาถึง 5 ชั่วโมงเพื่อพูดคุยและทำความรู้จักกับตัวละครหลักที่เขากำลังเขียนบทภาพยนตร์ ในวันนั้นคุณเชาวเรศน์ได้เล่นกีต้าร์และร้องเพลงบีเทิลกับเอลวิสให้เขาฟังด้วย เขาสัมผัสได้ว่าคุณเชาวเรศน์เป็นคนที่อบอุ่น ละเอียดอ่อน และเป็นคนที่รักครอบครัวมาก ถึงแม้ภายนอกนั้นดูเหมือนว่าเขาจะไม่ได้รับผลกระทบจากงานที่ทำเลย แต่ในความเป็นจริงแล้วงานได้ส่งผลกระทบและทำให้เขาประสบปัญหามากมายตามที่ภาพยนตร์ได้นำเสนอไป

นายวิทยา ปานศรีงามผู้สวมบทบาทเป็นเพชฌฆาตคนสุดท้ายของไทย พูดถึงการมารับบทบาทนี้ว่า หนังชีวประวัติส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องราวของคนที่มีชื่อเสียง แต่สำหรับเรื่องนี้กลับนำเสนอชีวิตของข้าราชการธรรมดาคนหนึ่งที่ทำหน้าที่ปลิดชีพนักโทษ เมื่อได้ยินคำว่า “เพชฌฆาต” มักจะถูกตราหน้าว่าเป็นคนที่โหดเหี้ยม ไร้ความเมตตา ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้พิสูจน์ให้เห็นว่าการเป็นเพชฌฆาตไม่ได้หมายความว่าเขาเป็นคนเช่นนั้น แต่เขาต้องทำเพราะหน้าที่ ตามที่เขาพร่ำบอกกับตัวเองและทุกคนเสมอว่า “ผมเป็นเพชฌฆาตไม่ฆาตกร”

“ภาพยนตร์ได้นำเสนอให้เห็นมุมมองของคนๆ หนึ่งที่ทำหน้าที่ ไม่ว่าจะเป็นหน้าที่อะไรก็ตามให้ดีที่สุด อย่างน้อยภาพยนตร์เรื่องนี้ได้สร้างการรับรู้รับทราบ หรือสร้างสำนึกว่าถ้าเราทำความผิด เราไม่สามารถจะหนีการลงโทษหรือว่าบทลงโทษได้ ฉะนั้นสิ่งที่ดีที่สุดก็คือประพฤติปฏิบัติให้ถูกต้องตามศีลธรรม จริยธรรม แล้วก็มีคุณธรรมในการดำเนินชีวิต และอยากจะพูดเหมือนปีที่แล้วคือ อยากจะเป็นตัวแทนของคุณเชาวเรศน์ที่เป็นเพชฌฆาตคนสุดท้ายจริงๆ ในราชอาณาจักรไทย แต่อย่างที่ทราบกันดีว่าปัจจุบันประเทศเรายังมีกฎหมายบังคับใช้ในเรื่องของโทษประหารชีวิตอยู่”

นายทอม วอลเลอร์ผู้กำกับภาพยนตร์ออกตัวว่าในฐานะที่เป็นคนทำภาพยนตร์จึงไม่มีสิทธิจะบอกว่าควรมีหรือไม่มีโทษประหารชีวิต แต่สิ่งที่เขาทำได้ คือการแสดงให้เห็นถึงมุมมองของการกระทำทารุณโดยการใช้โทษประหารชีวิตในประเทศที่เขาคิดว่าเป็นประเทศที่ทันสมัยและเจริญแล้ว ยังถือว่าโชคดีที่วันนี้ประเทศไทยอยู่ในระหว่างการระงับใช้โทษประหารชีวิตชั่วคราว คือไม่มีการประหารชีวิตติดต่อกันมาแล้ว 6 ปี แต่ปัญหาไม่ได้อยู่ที่การประหารชีวิตได้ทำไปกี่ครั้ง ปัญหาอยู่ที่ความบกพร่องของกระบวนการยุติธรรม ซึ่งได้ส่งผลกระทบต่อชีวิตของคุณเชาวเรศน์ในเวลาต่อมา

“ในช่วงแรกคุณเชาวเรศน์ซื่อสัตย์ในหน้าที่ของตัวเองมาก และไม่เคยตั้งคำถามต่อทางการถึงการประหารชีวิตเลย แต่ผมเชื่อว่าเขาต้องเคยตั้งคำถามในช่วงท้ายๆของชีวิต เพราะจากที่เห็นในภาพยนตร์ กรณีของนักโทษประหารหญิงคนหนึ่งซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง เราไม่รู้ว่าเธอมีส่วนเกี่ยวข้องกับการฆาตกรรมจริงหรือเปล่า เธอผิดจริงหรือไหม หรือเธอควรต้องถูกประหารชีวิตหรือไม่ แต่สิ่งที่ผมอยากแสดงให้เห็นผ่านภาพยนตร์เรื่องนี้คือ ถ้ากระบวนการยุติธรรมบกพร่อง และการประหารชีวิตได้กระทำไปแล้ว เราไม่สามารถเรียกคืนชีวิตมาได้อีก”

ดร.เสรี นนทสูติ ผู้แทนประเทศไทยในคณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชนให้มุมมองเรื่องการยกเลิกโทษประหารชีวิตไว้ 2 ประเด็นคือควรจะยกเลิกหรือเปล่ากับถ้าจะยกเลิกควรมีวิธีการอย่างไร ซึ่งทั้งสองเรื่องมีประเด็นพื้นฐานอยู่ว่า อารมณ์คนไทยมักจะไม่แน่นอน พอเกิดคดีอุกฉกรรจ์ ก็มักจะเรียกร้องให้มีการประหารชีวิต แต่โดยทั่วไปคิดว่าคงไม่มีคนเห็นด้วยกับการประหารชีวิต

“การที่คนๆหนึ่งถูกตัดสินประหารชีวิต ไม่ใช่ว่าถูกตัดสินวันนี้ แล้ววันพรุ่งนี้ประหารชีวิตเลย ยังมีการรอพระราชทานอภัยโทษอยู่ การรอในบางกรณีก็นานเป็นปี ระหว่างนั้นเองเขาก็เป็นทุกข์ ประเด็นที่สองคือ ศาลไม่มีดุลพินิจเป็นอย่างอื่น นอกจากจะต้องตัดสินประหารชีวิตอย่างเดียว เช่น เฮโรอีนเกิน 20 กรัม ก็ต้องประหารชีวิตทันที เพราะฉะนั้นกระทรวงยุติธรรมจึงเคยพิจารณาอยากจะปรับให้ศาลมีดุลยพินิจได้บ้าง  ตอนนี้โทษประหารชีวิตมีทั้งหมด 55 ฐานความผิด การเริ่มยกเลิกทั้งหมดอาจจะเป็นไปไม่ได้ ต้องค่อยๆเริ่ม แต่ถ้าเป้าหมายในท้ายที่สุดคือการยกเลิกโทษประหารชีวิตก็ต้องช่วยกันสร้างทัศนคติเรื่องสิทธิมนุษยชนให้เกิดในสังคมไทย”

นางสาวปิติกาญจน์ สิทธิเดช ผู้ตรวจราชการกระทรวงยุติธรรม แลกเปลี่ยนประสบการณ์ในฐานะที่เคยดำรงตำแหน่งรองอธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ทำหน้าที่รับผิดชอบโดยตรงในการทำแผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ยืนยันว่าคำตอบของคำถามที่ว่าควรยกเลิกโทษประหารในประเทศไทยหรือไม่? มักขึ้นอยู่กับอารมณ์ของผู้คนในขณะนั้น ทำให้เราได้เรียนรู้ว่าถ้าถามแบบเดิมๆ ส่วนใหญ่จะบอกต้องการให้คงโทษประหารชีวิตไว้ แต่ถ้าหากเรามีการให้ความรู้ก่อน คนจะรู้สึกอยากให้มีการยกเลิกโทษประหารชีวิตมากขึ้น นั่นหมายความว่าการให้ข้อมูลอย่างรอบด้านเป็นเรื่องสำคัญ ในการเปลี่ยนแปลงทัศนคติของประชาชน

“แผนสิทธิมนุษยชนฉบับที่ 3 ได้มีการพิจารณาว่าควรจะมีการเปลี่ยนโทษประหารชีวิตเป็นจำคุกตลอดชีวิต และในบางความผิดก็ควรมีทางเลือกให้ศาลนอกจากตัดสินประหารชีวิตอย่างเดียว สำหรับประเทศไทยถือว่าค่อนข้างมีความก้าวหน้าในเรื่องสิทธิมนุษยชน เราเป็นภาคีในอนุสัญญาระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชน 7 ฉบับ จาก 9 ฉบับ รวมทั้งกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองด้วย การประหารชีวิตไม่ใช่แค่การเอาชีวิตใครไป แต่มันหมายถึงการทรมานด้วย ถ้าดูในหนัง เขาถูกควบคุมตัวไม่รู้กี่วัน กี่เดือน กี่ปี เพื่อรอคำตอบว่าเขาจะถูกประหารชีวิตหรือไม่”

หน่วยงานด้านสิทธิมนุษยชนเรียกร้องให้รัฐบาลไทยรักษาพันธสัญญาและเห็นคุณค่าของทุกชีวิตอย่างเท่าเทียมกันและขอให้รัฐบาลปฏิบัติตามแผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติฉบับที่ 3 ที่รัฐบาลได้ประกาศอย่างเป็นทางการและมีผลปฏิบัติตั้งแต่ปี 2557 เป็นต้นมา โดยหนึ่งในแผนสิทธิมนุษยชนด้านกระบวนการยุติธรรมคือ เปลี่ยนแปลงโทษประหารชีวิตให้เข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาเป็นโทษจำคุกตลอดชีวิต เพื่อเป็นการยกระดับมาตรฐานสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยให้ทัดเทียมกับนานาอารยประเทศ

ข้อมูลเพิ่มเติม

จากรายงาน “สถานการณ์โทษประหารชีวิตและการประหารชีวิต ในปี 2557” (Death Sentences and Executions in 2014) ของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ระบุว่า ปัจจุบันมี 140 ประเทศหรือมากกว่า 2 ใน 3 ของ ประเทศทั่วโลกที่ได้ยกเลิกโทษประหารชีวิตทั้งในทางกฎหมายหรือในทางปฏิบัติแล้ว และเมื่อปลายปี 2557 มี 117 จาก 193 ประเทศ ลงนามสนับสนุนในข้อตกลงเพื่อพักใช้โทษประหารชีวิตชั่วคราวของสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ ตัวเลขดังกล่าวมากที่สุดเท่าที่เคยมีมา

สำหรับประชาคมอาเซียนซึ่งประกอบด้วย 10 ประเทศนั้น กัมพูชาและฟิลิปปินส์ ยกเลิกโทษประหารชีวิตสำหรับความผิดทางอาญาทุกประเภท ส่วนลาว พม่า และบรูไน ได้ยกเลิกโทษประหารชีวิตในทางปฏิบัติ (การที่ยังคงไว้ซึ่งโทษประหารชีวิต แต่ได้ระงับการประหารชีวิตเป็นระยะเวลา 10 ปี) ส่วนประเทศไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์และเวียดนาม ยังคงมีและใช้โทษประหารชีวิตอยู่

ประมวลภาพกิจกรรมงานรณรงค์ยุติโทษประหารชีวิตในไทยผ่านเลนส์ภาพยนตร์ "เพชฌฆาต"

ป้ายคำ: 

  • โทษประหารชีวิต
  • สิทธิมนุษยชน
  • แอมเนสตี้ อินเตอร์นชั่นแนล