Error message

  • Deprecated function: preg_replace(): The /e modifier is deprecated, use preg_replace_callback instead in _filter_pubdlcnt() (line 50 of /home/amnestyo/domains/amnesty.or.th/public_html/old/sites/all/modules/contrib/pubdlcnt/pubdlcnt.module).
  • Deprecated function: preg_replace(): The /e modifier is deprecated, use preg_replace_callback instead in _filter_pubdlcnt() (line 50 of /home/amnestyo/domains/amnesty.or.th/public_html/old/sites/all/modules/contrib/pubdlcnt/pubdlcnt.module).

ข้อบังคับสมาคม

ข้อบังคับ
แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย
หมวดที่ ๑
ความทั่วไปและวัตถุประสงค์

 

ข้อ ๑ ชื่อ เครื่องหมายและสำนักงาน

(๑) องค์กรนี้มีชื่อว่า สมาคมแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย คำย่อว่า เอไอ ประเทศไทย มีชื่อภาษาอังกฤษว่า Association of Amnesty International Thailand คำย่อว่า AI Thailand

(๒) เครื่องหมายของ เอไอ ประเทศไทย มีลักษณะเป็นรูปเปลวเทียนลุกโชนบนแท่งเทียนที่ถูกล้อมด้วยลวดหนาม

(๓) สำนักงานของ เอไอ ประเทศไทยตั้งอยู่ ณ บ้านเลขที่ ๒๔/๑ ซ. สมาฉันท์-บาร์โบส แขวงพระโขนง เขตคลองเตย กรุงเทพมหานคร

ข้อ ๒ วิสัยทัศน์ ภารกิจ และวัตถุประสงค์

(๑) วิสัยทัศน์ของเอไอ ประเทศไทย คือ โลกที่เคารพสิทธิของกันและกัน และมีสิทธิตามที่ได้รับการรับรองจากปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนและในมาตรฐานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศฉบับอื่น ๆ

(๒) เพื่อให้บรรลุถึงวิสัยทัศน์ดังกล่าวนี้ เอไอ ประเทศไทย จะทำการวิจัยและดำเนินการ โดยมุ่งเน้นการป้องกันการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง ทั้งที่เป็นการละเมิดบูรณภาพของร่างกายและจิตใจ เสรีภาพในความคิดและการแสดงออกและเสรีภาพจากการไม่ถูกเลือกปฏิบัติภายในบริบทของการดำเนินการเพื่อส่งเสริมสิทธิมนุษยชน

(๓) เสริมสร้างและส่งเสริมความสำนึกและความยึดมั่นในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน และตราสารต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนซึ่งเป็นที่ยอมรับของนานาประเทศ ยึดมั่นในคุณค่าที่เป็นหลักการใน ปฏิญญาฯ และตราสารเหล่านั้น การไม่อาจแบ่งแยกได้และการสัมพันธ์เชื่อมโยงกันของสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพในทุกด้าน

(๔) คัดค้านการละเมิดสิทธิของบุคคลทุกคนในอันที่จะยึดถือและแสดงออกซึ่งความเชื่อของตน ตลอดจนคัดค้านการเลือกปฏิบัติต่อบุคคลอันมีสาเหตุมาจากชาติกำเนิด เพศ สีผิวหรือ ภาษา การละเมิดต่อความมั่นคงทางร่างกายและจิตใจของบุคคลโดยวิธีการ ดังต่อไปนี้ ไม่ว่าบุคคลดังกล่าวจะยึดถืออุดมการณ์ทางการเมืองใดก็ตาม ทั้งนี้ การคัดค้านจะกระทำโดยวิธีการเหมาะสม

(ก) การจำคุก กักขัง หรือจำกัดอิสรภาพทางร่างกายต่อบุคคลใดก็ตามโดยมีสาเหตุมาจากความเชื่อทางการเมือง ศาสนา หรือจิตสำนึกต่าง หรือเนื่องจากเชื้อชาติเผ่าพันธุ์ เพศ สีผิว หรือภาษา โดยที่บุคคลนั้นไม่เคยใช้หรือสนับสนุนวิธีการต่อสู้ที่รุนแรงแต่อย่างใด (ต่อไปนี้บุคคลเหล่านี้จะถูกเรียกว่า “นักโทษทางความคิด”) เอไอ ประเทศไทยจะดำเนินการให้ปลดปล่อยและให้ความช่วยเหลือแก่นักโทษทางความคิด

(ข) การกักขังนักโทษทางการเมืองใดๆ โดยปราศจากการพิจารณาคดีในเวลาอันสมควรหรือกระบวนการพิจารณาคดีใดๆ ต่อนักโทษดังกล่าวที่ไม่สอดคล้องกับมาตรฐานอันเป็นที่ยอมรับของสากล

(ค) โทษประหารชีวิต การทารุณกรรมหรือการปฏิบัติหรือการลงโทษที่ทารุณโหดร้ายเลวทรามต่อนักโทษหรือบุคคลที่ถูกกักขังหรือถูกจำกัดอิสรภาพ ไม่ว่าบุคคลที่ได้รับ ผลกระทบนั้นได้เคยใช้หรือสนับสนุนวิธีการต่อสู้ที่รุนแรงหรือไม่ก็ตาม

(ง) การสังหารบุคคลผู้ซึ่งไม่ว่าจะถูกจำคุก กักขัง หรือจำกัดอิสรภาพ และ “การทำให้บุคคลหายสาบสูญโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐ” ไม่ว่าบุคคลนั้นได้เคยใช้หรือสนับสนุนวิธีการต่อสู้ที่รุนแรงหรือไม่ก็ตาม

(จ) การละเมิดสิทธิมนุษยชนในด้านสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม – สลัม สิทธิสตรี และสิทธิอนามัยเจริญพันธุ์ และความรับผิดชอบของบรรษัท

(๕) ให้ความร่วมมือกับองค์กรอื่น เพื่อส่งเสริมสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย

(๖) ร่วมมือกับแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเพื่อปฏิบัติตามวัตถุประสงค์ หลักการ ข้อกำหนด ข้อเรียกร้อง และข้อเสนอแนะของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล

ข้อ ๓ หลักการพื้นฐาน

เอไอ ประเทศไทย เป็นชุมชนของผู้พิทักษ์สิทธิมนุษยชน ที่เป็นขบวนการที่มีเครือข่ายทั่วโลก โดยยึดมั่นในหลักการความสมานฉันท์ระหว่างประเทศ หลักการการปฏิบัติการอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้ความช่วยเหลือต่อเหยื่อของการละเมิดสิทธิมนุษยชน หลักการทำงานครอบคลุมพื้นที่ทั่วโลก หลักความเป็นสากล และการไม่อาจแบ่งแยกได้ของสิทธิมนุษยชน หลักการไม่เอนเอียงและเป็นอิสระ หลักการประชาธิปไตยและหลักการเคารพซึ่งกันและกัน

ข้อ ๔ วิธีการ

เอไอ ประเทศไทยทำงานร่วมกับรัฐบาล หน่วยงานระหว่างรัฐบาล บรรษัทและกลุ่มอื่นที่ไม่ได้เป็นของ         รัฐ พยายามเปิดเผยการละเมิดสิทธิมนุษยชนด้วยข้อมูลที่เที่ยงตรง รวดเร็ว และสม่ำเสมอ และบรรดาสมาชิก    ผู้สนับสนุนและเจ้าหน้าที่จะร่วมกันผลักดันต่อรัฐบาลและหน่วยงานอื่นๆ เพื่อยุติการละเมิดนั้น นอกจากนั้นยัง  กระตุ้นให้รัฐบาลทุกแห่งปฏิบัติตามหลักนิติธรรม ให้สัตยาบันและดำเนินการตามมาตรฐานสิทธิมนุษยชน        รวมทั้งการจัดกิจกรรมให้ความรู้ด้านสิทธิมนุษยชน และสนับสนุนหน่วยงานระหว่างรัฐบาล บุคคล และ     หน่วยงานอื่นๆ ในสังคมเพื่อการส่งเสริมและการเคารพสิทธิมนุษยชน

 

หมวดที่ ๒
ความสัมพันธ์ และการปฏิบัติงาน

 

ข้อ ๕ ความสัมพันธ์กับแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล

(๑) เอไอ ประเทศไทย ต้องพยายามคงไว้ซึ่งฐานะสมาชิกของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล

(๒) เพื่อดำเนินงานให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ และวิธีการดังกล่าวมาข้างต้น ตลอดจนได้รับการรับรอง ให้เป็นส่วนหนึ่งของแอมแนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เอไอ ประเทศไทย ต้องประสานงาน และร่วมมือ อย่างใกล้ชิด กับคณะกรรมการบริหารนานาชาติ และสำนักงานเลขาธิการของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล และต้องส่ง รายงานกิจกรรม ประจำปี ตลอดจนงบดุลประจำปีแก่ คณะกรรมการ บริหารนานาชาติ ถ้า เอไอ ประเทศ ไทย ได้รับการรับรองให้เป็นองค์กรหนึ่งของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล จะสามารถส่ง ผู้แทนร่วมประชุมสภานานาชาติ ตลอดจนสามารถคงไว้ซึ่งความสัมพันธ์กับแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลประเทศต่าง ๆ

(๓) ถ้า เอไอ ประเทศไทย ได้รับการรับรองให้เป็นองค์กรหนึ่งของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เอไอ ประเทศไทย ต้องจ่ายค่าธรรมเนียมซึ่งจะประเมินในที่ประชุมสภานานาชาติ

(๔) สมาชิกหรือกลุ่มสมาชิก จะต้องไม่มีหน้าที่รับผิดชอบในการสืบสวน หรือเก็บรวบรวม ข้อมูลของเหตุการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยที่เกิดขึ้น หรืออาจเกิดขึ้น และไม่มีหน้าที่ต้องจัดหาข้อมูลดังกล่าวให้แก่แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล

(๕) เอไอ ประเทศไทย ไม่ต้องรับผิดชอบต่อการปฏิบัติงาน หรือคำแถลงใด ๆ ที่เกี่ยวกับ ประเทศไทยซึ่งจัดทำโดยแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล

(๖) สมาชิกหรือกลุ่มสมาชิกจะไม่ปฏิบัติการใด หรือออกแถลงการณ์ใดที่เกี่ยวกับการกล่าวหา ว่ามีการละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยตามบทบัญญัติของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ในนามของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล โดยปราศจากการรับรู้ และ การอนุมัติของคณะกรรมการบริหารนานาชาติ และจะไม่มีการขอให้เอไอ ประเทศไทยดูแลนักโทษทางความคิดคนใดคนหนึ่งซึ่งถูกคุมขังในประเทศไทย

 

หมวดที่ ๓
สมาชิก

 

ข้อ ๖ ทุกคนมีโอกาสเป็นสมาชิกเอไอ ประเทศไทยอย่างเท่าเทียมกัน ไม่ว่าจะมีความแตกต่างกันในเรื่อง ความเชื่อทางการเมือง การนับถือศาสนา หรือความเชื่ออื่นๆ เชื้อชาติ ถิ่นกำเนิด เพศ สีผิว หรือภาษา

ข้อ ๗ สมาชิกต้องมีคุณสมบัติดังต่อไปนี้

(๑) เป็นบุคคลที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย หรือเป็นบุคคลสัญชาติไทย หากอาศัยอยู่ในประเทศอื่น

(๒) เห็นด้วยและปฏิบัติตามวัตถุประสงค์และวิธีการของเอไอ ประเทศไทย

(๓) จ่ายค่าสมาชิกในอัตราที่กำหนดโดยที่ประชุมใหญ่สามัญ

(๔) เต็มใจที่จะเข้าร่วมกิจกรรมของ เอไอ ประเทศไทย

ข้อ ๘ ค่าบำรุง

สมาชิกจะต้องเสียค่าสมาชิกตามอัตราที่ประชุมใหญ่สามัญได้มอบอำนาจให้กับคณะกรรมการเป็นผู้กำหนด โดยมีอัตราตั้งแต่ ๒๐๐ บาทแต่ไม่เกิน ๑,๐๐๐ บาทต่อปี

ข้อ ๙ ให้ผู้ประสงค์จะสมัครเข้าเป็นสมาชิกของเอไอ ประเทศไทย ยื่นใบสมัครตามแบบที่กำหนด ต่อเลขานุการหรือเจ้าหน้าที่ที่คณะกรรมการกำหนด

คณะกรรมการมีสิทธิที่จะปฏิเสธใบสมัครเป็นสมาชิกของบุคคลใดได้ถ้าเห็นว่ามีคุณสมบัติไม่เหมาะสม

ข้อ ๑๐ สมาชิกภาพ

ให้สมาชิกภาพของผู้สมัครเริ่มนับตั้งแต่วันที่ เอไอประเทศไทยลงทะเบียนรับผู้สมัครเป็นสมาชิก

ข้อ ๑๑ กลุ่มสมาชิกของเอไอ ประเทศไทย

(๑) กลุ่มต้องประกอบด้วยสมาชิก เอไอ ประเทศไทย ไม่น้อยกว่า ๕ คนรวมกัน และได้ลง ทะเบียนจัดตั้งเป็นกลุ่มไว้ ณ สำนักงาน เอไอ ประเทศไทย ต้องจ่ายเงินค่าบำรุง ประจำปีของกลุ่มแก่ เอไอ ประเทศไทย ตามอัตรา ซึ่งกำหนด โดยที่ประชุมใหญ่สามัญ กลุ่มสมาชิกดังกล่าวควรปฏิบัติงานรณรงค์ เผยแพร่เอกสาร และการหาสมาชิกและหาทุน โดยที่การปฏิบัติการดังกล่าวต้องเป็นไปตามแนวทางการปฏิบัติการและบทบัญญัติของสภานานาชาติ และธรรมนูญของเอไอ ประเทศไทย กลุ่มจะปฏิบัติงานที่เป็นไปตามธรรมนูญ และกฏเกณฑ์ของ เอไอ ประเทศไทย และจะไม่ปฏิบัติงานที่ขัดต่อวัตถุประสงค์ หลักการ และวิธีการของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล

(๒) การสิ้นสุดหรือการสั่งพักกิจกรรม ของกลุ่มสมาชิก อาจมีขึ้นได้ หากกลุ่มสมาชิก ขาดคุณสมบัติตามข้อ ๑๑(๑) ข้างต้นโดยให้นำเอาบทบัญญัติในข้อ ๑๒(๔) – ๑๒ (๕) ข้างล่างนี้มาใช้บังคับโดยอนุโลม

ข้อ ๑๒ สมาชิกภาพของสมาชิกให้สิ้นสุดลงด้วยเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้

(๑) ตาย

(๒) ลาออก โดยยื่นหนังสือลาออก ต่อคณะกรรมการ

(๓) ขาดคุณสมบัติสมาชิก

(๔) ไม่จ่ายค่าสมาชิกภายใน ๑ ปี นับแต่วันถึงกำหนดชำระ เว้นแต่กรณีที่คณะกรรมการได้มี มติเป็นอย่างอื่น

(๕) คณะกรรมการได้พิจารณาลงมติให้ลบชื่อออกจากทะเบียน หรือสั่งพักการเป็นสมาชิกด้วย คะแนนเสียง ๒ ใน ๓ ของที่ประชุมเนื่องจากสมาชิกไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติของธรรมนูญนี้ ก่อนที่จะลบชื่อหรือสั่งพักการเป็นสมาชิก คณะกรรมการต้องแจ้งให้สมาชิกผู้นั้นทราบ เพื่อเปิดโอกาสให้โต้แย้ง โดยจะต้องแจ้งเป็นหนังสือระบุเหตุที่พิจารณาลบชื่อ หรือพักการเป็น สมาชิกส่งให้แก่สมาชิกผู้นั้นอย่างน้อย ๑ เดือน ก่อนการประชุมของคณะกรรมการเพื่อ พิจารณาเรื่องดังกล่าว

ในการประชุมคณะกรรมการนั้น ต้องเปิดโอกาสให้สมาชิกผู้นั้น เข้าชี้แจงต่อที่ประชุม สมาชิกที่ถูกลบชื่อหรือพักการเป็นสมาชิก มีสิทธิยื่นอุทธรณ์ ต่อที่ประชุมใหญ่สามัญได้ และมีสิทธิชี้แจงต่อที่ประชุมได้ ถ้าที่ประชุมใหญ่สามัญเห็นด้วยกับข้ออุทธรณ์โดยมติ ๒ ใน ๓ ของที่ประชุมก็ให้คืนสมาชิกภาพแก่ผู้อุทธรณ์

ข้อ ๑๓ สมาชิกมีสิทธิและหน้าที่ดังนี้

(๑) มีสิทธิเสนอความคิดเห็นเกี่ยวกับการดำเนินการของเอไอ ประเทศไทยต่อคณะกรรมการ

(๒) มีสิทธิได้รับสวัสดิการต่างๆ ที่ เอไอ ประเทศไทยได้จัดให้มีขึ้นแก่สมาชิก

(๓) มีสิทธิเข้าร่วมประชุมใหญ่ของ เอไอ ประเทศไทย

(๔) สมาชิกมีสิทธิในการเลือกตั้ง (เฉพาะสมาชิกที่มีอายุสมาชิกไม่น้อยกว่า 6 เดือน) หรือได้รับการเลือกตั้ง หรือแต่งตั้งเป็นกรรมการ หรืออนุกรรมการต่างๆ ของ เอไอ ประเทศไทยและมีสิทธิออกเสียงลงมติต่างๆ ในที่ประชุมใหญ่ได้คนละ ๑ คะแนนเสียง

(๕) มีสิทธิเข้าชื่อร่วมกันอย่างน้อย ๑ ใน ๕ ของสมาชิกทั้งหมดทำหนังสือร้องขอต่อคณะกรรมการ ให้จัดประชุมใหญ่วิสามัญได้

(๖) มีหน้าที่จะต้องปฏิบัติตามวัตถุประสงค์ หลักการ วิธีการ ธรรมนูญ และระเบียบปฏิบัติของเอไอ ประเทศไทย โดยเคร่งครัด

(๗) มีหน้าที่เข้าร่วมให้ความร่วมมือและสนับสนุนการดำเนินกิจการต่างๆ ของ เอไอ ประเทศไทย

(๘) มีหน้าที่ช่วยเผยแพร่ชื่อเสียงของ เอไอ ประเทศไทย ให้เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย

ข้อ ๑๔ บุคคลที่ประสงค์จะสนับสนุนทางการเงินหรือด้านอื่น ๆ หรือร่วมกิจกรรมกับ เอไอ ประเทศไทย หรือประสงค์เพียงแค่รับข่าวสารโดยไม่ประสงค์ที่จะมีส่วนร่วมในกิจกรรมอื่น ของเอไอ ประเทศไทย หรือบุคคลซึ่งประสงค์จะเป็นสมาชิกเอไอ ประเทศไทย แต่มีคุณสมบัติไม่ครบสามารถ ลงทะเบียน เป็นผู้รับข่าวสารของเอไอ ประเทศไทยได้

 

หมวดที่ ๔
การดำเนินกิจการเอไอ ประเทศไทย

 

ข้อ ๑๕ คณะกรรมการ เอไอ ประเทศไทย

(๑) คณะกรรมการเอไอ ประเทศไทย ประกอบด้วยกรรมการจำนวนอย่างน้อย ๕ คน อย่างมากไม่เกิน ๙ คน ซึ่งได้รับแต่งตั้งโดยที่ประชุมใหญ่สามัญประจำปี ตามวิธีการดังต่อไปนี้

(ก) ให้ที่ประชุมเลือกสมาชิกคนหนึ่งเป็นประธาน เอไอ ประเทศไทย ในกรณีที่ไม่มีผู้ใดได้รับคะแนนเกินกึ่งหนึ่งของที่ประชุม ให้ที่ประชุมลงมติอีกครั้งหนึ่ง เลือกผู้ที่ได้ คะแนนเป็นอันดับหนึ่งหรืออันดับสอง คนใดคนหนึ่งเป็นประธานในกรณีที่มีผู้สมัคร หรือถูกเสนอชื่อให้รับเพียงคนเดียว ผู้นั้นต้องได้รับคะแนนเสียงรับรองเกินกึ่งหนึ่ง ของที่ประชุม

(ข) ให้ที่ประชุมเลือกสมาชิกคนหนึ่งเป็นเหรัญญิกของ เอไอ ประเทศไทย

(ค) หลังจากนั้นให้ที่ประชุมเลือกกรรมการอีกไม่เกิน ๗ คน จากสมาชิกเพื่อเป็นกรรมการโดยไม่ต้องระบุตำแหน่ง

(ง) ให้คณะกรรมการที่ได้รับเลือกตั้งจากที่ประชุมเลือกตั้งกันเองให้ดำรงตำแหน่ง ต่างๆ เช่น รองประธาน เลขานุการ ฯลฯ ตามที่เห็นสมควร ในกรณีที่ไม่มีการเลือกตั้งประธาน และเหรัญญิกในการประชุมใหญ่สามัญประจำปี ให้มีการเลือกตั้งประธานและ เหรัญญิกในการประชุมวิสามัญ

(๒) ให้คณะกรรมการมีวาระอยู่ในตำแหน่ง คราวละ ๒ ปี ในคราวประชุมใหญ่สามัญแต่ละปีให้กรรมการกึ่งหนึ่งหมุนเวียนกันพ้นจากการ เป็นกรรมการ ผู้ที่หมดวาระมีสิทธิรับเลือกตั้งได้อีก แต่จะมีสิทธิดำรงตำแหน่งได้ไม่เกิน ๒ วาระติดต่อกัน

(๓) ผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นกรรมการ จะต้องเป็นสมาชิกของเอไอ ประเทศไทยมาไม่ต่ำกว่า ๑ ปี ผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นประธานกรรมการ จะต้องเป็นสมาชิกของเอไอ ประเทศไทยมาไม่ต่ำกว่า ๓ ปี หรือเคยเป็นกรรมการมาแล้วอย่างน้อย ๒ ปี และต้องทำการสมัครล่วงหน้าไม่น้อย กว่า 30 วันก่อนถึงวันประชุมใหญ่สามัญประจำปี

(๔)ในการประชุมคณะกรรมการ จะครบเป็นองค์ประชุมต่อเมื่อมีกรรมการร่วมประชุมด้วยตนเองมากกว่า กึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมด

(๕)ให้ประธานเอไอ ประเทศไทย ทำหน้าที่เป็นประธานในที่ประชุมคณะกรรมการ ในกรณีที่ประธานไม่อาจทำหน้าที่ได้หากมีรองประธานให้รองประธานทำหน้าที่แทน

(๖) เว้นแต่ในธรรมนูญนี้จะกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น การลงมติของที่ประชุมคณะกรรมการให้ถือเสียงข้างมากของกรรมการที่เข้าประชุมเป็นเกณฑ์

(๗) คณะกรรมการอาจจัดประชุมบ่อยครั้งได้ตามที่จำเป็น แต่ต้องไม่น้อยกว่า ๖ ครั้งต่อปี และอย่างน้อยหนึ่งครั้งในทุก ๒ เดือน

(๘) ในกรณีที่ตำแหน่งกรรมการใดว่างลงก่อนกำหนดวาระ คณะกรรมการมีอำนาจแต่งตั้งสมาชิกเข้าดำรงตำแหน่งแทนได้ โดยให้กรรมการดังกล่าวอยู่ในตำแหน่งตามวาระของกรรมการที่ว่างลงนั้น

ข้อ ๑๖ คณะกรรมการมีอำนาจหน้าที่ดังนี้

(๑) รับผิดชอบในกิจการของ เอไอ ประเทศไทย รวมทั้งทางการเงินและทรัพย์สิน

(๒) จัดให้มีการประชุมใหญ่สามัญประจำปีหรือการประชุมใหญ่วิสามัญ

(๓) มีหน้าที่จัดทำและเก็บรักษาทะเบียนสมาชิก รายงานการประชุม เอกสารหลักฐานต่างๆ ที่เกี่ยวกับการเงิน ทรัพย์สิน ของ เอไอ ประเทศไทย ให้ถูกต้องตามหลักวิชาการ

(๔) คณะกรรมการมีหน้าที่นำเสนอรายงานกิจกรรมประจำปีและรายงานการเงิน ซึ่งลงนามโดยผู้สอบบัญชีอนุญาตต่อที่ประชุมใหญ่สามัญประจำปี

(๕) คณะกรรมการมีหน้าที่เสนอขออนุมัติอัตราค่าสมาชิกบุคคลและกลุ่มต่อที่ประชุมใหญ่สามัญ

(๖) คณะกรรมการมีอำนาจแต่งตั้งที่ปรึกษา คณะทำงานเฉพาะกิจ คณะอนุกรรมการ หรือกรรมการชุดใด ๆ เพื่อดำเนินงานที่คณะกรรมการมอบหมายเป็นการเฉพาะคราว หรือถาวรและให้มีอำนาจถอดถอนการแต่งตั้งดังกล่าวและกำหนดอำนาจหน้าที่ของคณะบุคคลเหล่านั้น

(๗) คณะกรรมการมีอำนาจแต่งตั้งและถอดถอนผู้อำนวยการ

(๘) คณะกรรมการอาจแต่งตั้งทรัสตีส์เพื่อดูแลและจัดการทรัพย์สินในนามของเอไอ ประเทศไทย

(๙) คณะกรรมการมีอำนาจออกกฎระเบียบที่ไม่ขัดต่อธรรมนูญนี้หรือมติของที่ประชุมใหญ่เพื่อให้การบริหารงานของ เอไอ ประเทศไทยเป็นไปด้วยความเรียบร้อยและมีประสิทธิภาพ

(๑๐) มีหน้าที่อื่น ๆ ตามที่ธรรมนูญนี้หรือที่ประชุมใหญ่สามัญได้กำหนดไว้

ข้อ ๑๗ กรรมการอาจจะพ้นจากตำแหน่งด้วยเหตุผลต่อไปนี้คือ

(๑) ครบกำหนดวาระ

(๒) ตาย

(๓) ลาออก

(๔) ขาดจากการเป็นสมาชิก

(๕) ขาดการประชุมติดต่อกัน 3 ครั้งโดยไม่มีเหตุสมควร

(๖) ที่ประชุมใหญ่ลงมติให้พ้นจากตำแหน่งด้วยคะแนนเสียง ๒ ใน ๓ ของที่ประชุม เนื่องจากมีความประพฤติ ไม่เหมาะสมหรือไม่อยู่ในภาวะที่จะปฏิบัติงานได้

ข้อ ๑๘ กรรมการที่ประสงค์จะลาออกจากตำแหน่งกรรมการให้ยื่นใบลาออกเป็นลายลักษณ์อักษรต่อ คณะกรรมการและให้พ้นจากตำแหน่งเมื่อคณะกรรมการมีมติอนุมัติ

ข้อ ๑๙ คณะกรรมการระดับประเทศอาจแต่งตั้งผู้อำนวยการ ซึ่งจะมีรับผิดชอบต่อการกำกับ ดูแลการดำเนินการต่าง ๆ ของเอไอ ประเทศไทย และต่อการดำเนินนโยบายของคณะกรรมการ

ข้อ ๒๐ ผู้อำนวยการอาจแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ระดับอาวุโส โดยการหารืออย่างใกล้ชิดกับคณะกรรมการ และอาจแต่งตั้งเจ้าหน้าที่อื่น ๆ ทั้งหมด หากเห็นว่ามีความจำเป็นต่อการดำเนินการต่าง ๆ ของเอไอ ประเทศไทย

ข้อ ๒๑ ในกรณีที่ผู้อำนวยการไม่สามารถทำงานได้เนื่องจากอาการเจ็บป่วย หรือตำแหน่งผู้อำนวยการว่างลง ประธานของเอไอ ประเทศไทยจะหารือกับคณะกรรมการและแต่งตั้งผู้รักษาการ แทนผู้อำนวยการ ให้ปฏิบัติหน้าที่ไปจนกว่าจะถึงวาระประชุมครั้งถัดไปของคณะกรรมการ

ข้อ ๒๒ ผู้อำนวยการหรือผู้รักษาการแทนผู้อำนวยการและเจ้าหน้าที่ของเอไอ ประเทศไทย อาจเข้าร่วมประชุมคณะกรรมการได้ หากประธานคณะกรรมการเห็นว่าจำเป็น ทั้งนี้ ผู้อำนวยการ หรือผู้รักษาการแทนผู้อำนวยการและเจ้าหน้าที่ อาจพูดแสดงความเห็นได้ แต่ไม่มีสิทธิออกเสียงในการลงมติ


หมวดที่ ๕
การประชุมใหญ่

 

ข้อ ๒๓ การประชุมใหญ่ของเอไอ ประเทศไทย ๒ ชนิด คือ

(๑) ประชุมใหญ่สามัญ

(๒) ประชุมใหญ่วิสามัญ

ข้อ ๒๔ คณะกรรมการต้องจัดให้มีการประชุมใหญ่สามัญประจำปี ๆ ละ ๑ ครั้งระหว่างเดือนมีนาคม และเมษายนของทุก ๆ ปี

ข้อ ๒๕ การประชุมใหญ่วิสามัญอาจจะมีขึ้นได้โดยเหตุดังต่อไปนี้

(๑) คณะกรรมการเห็นควรจัดให้มีขึ้น

(๑) สมาชิกสามัญจำนวนไม่น้อยกว่า ๑ ใน ๕ ของสมาชิกทั้งหมด ทำหนังสือร้องขอต่อกรรมการให้จัดประชุมใหญ่วิสามัญ ในกรณีนี้ให้คณะกรรมการจัดให้มีการประชุมใหญ่วิสามัญภายในกำหนด ๓๐ วันนับแต่วันร้องขอ

ข้อ ๒๖ ให้เลขานุการเป็นผู้แจ้งกำหนดนัดประชุมใหญ่ให้สมาชิกได้ทราบเป็นลายลักษณ์อักษร โดยระบุวัน เวลา และสถานที่ ประชุมและเรื่องที่จะพิจารณาให้ชัดเจน โดยจะต้องแจ้งให้สมาชิกได้ทราบและติด ประกาศไว้ที่สำนักงาน เอไอ ประเทศไทย ล่วงหน้าไม่น้อยกว่า ๑๕ วันด้วย

ข้อ ๒๗ การประชุมใหญ่สามัญประจำปีจะต้องมีวาระการประชุมอย่างน้อยดังต่อไปนี้

(๑) รับรองรายงานกิจการที่ผ่านมาในรอบปี

(๒) รับรองบัญชีรายรับรายจ่าย และบัญชีงบดุลของปีที่ผ่านมา

(๓) พิจารณาและเสนอข้อคิดเห็นต่อนโยบายโครงการและงบประมาณของ เอไอ ประเทศไทย

(๔) ที่เสนอโดยคณะกรรมการ

(๕) เลือกตั้งกรรมการแทนกรรมการที่พ้นจากตำแหน่งตามวาระ

(๖) เลือกตั้งผู้สอบบัญชีและกำหนดสินจ้าง

(๗) เรื่องอื่นๆ ตามที่คณะกรรมการเสนอ

ข้อ ๒๘ ผู้เข้าประชุม

(๑) ในการประชุมใหญ่จะต้องมีสมาชิกเข้าร่วมประชุมไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมด หรือ ไม่น้อยกว่า ๓๐ คน จึงจะครบเป็นองค์ประชุม สมาชิกจะต้องเข้าประชุมด้วย ตนเองและห้ามมอบอำนาจให้ผู้อื่นเข้าประชุมและออกเสียงลงมติแทน

ในกรณีการประชุมใหญ่สามัญ ถ้าเมื่อถึงกำหนดเวลาประชุมยังมีสมาชิก เข้าร่วมประชุม ไม่ครบองค์ประชุม ให้คณะกรรมการเรียกประชุมใหญ่สามัญ อีกครั้งหนึ่งโดยจัดให้มีการประชุม ขึ้นภายใน ๓๐ วัน นับแต่วันที่นัดประชุม ครั้งแรก สำหรับการประชุมในครั้งหลังนี้ ถ้ามีสมาชิกเข้าร่วมประชุมเป็นจำนวน เท่าใดก็ให้ถือว่าครบองค์ประชุม

ในกรณีถ้าเป็นการประชุมใหญ่วิสามัญที่เกิดขึ้นจากการร้องขอของสมาชิก หากไม่ ครบองค์ประชุม ก็ให้การประชุมยกเลิกไปและไม่ต้องเรียกประชุมอีก

(๒) ที่ปรึกษาเอไอ ประเทศไทย มีสิทธิเข้าร่วมประชุมใหญ่และแสดงความคิดเห็นในที่ประชุมได้

(๓) กรรมการอาจเชิญบุคคลอื่นที่เห็นสมควรเข้าร่วมประชุมใหญ่ได้

ข้อ ๒๙ ในการประชุมใหญ่ เอไอ ประเทศไทย ให้ประธาน เอไอ ประเทศไทยเป็นประธานในที่ประชุม ถ้าประธาน ไม่มาร่วมประชุมหรือไม่อาจทำหน้าที่ได้ หากมีรองประธานให้รองประธานทำหน้าที่แทน แต่หากประธานและรองประธานไม่มาร่วมประชุม หรือไม่สามารถจะปฏิบัติหน้าที่ได้ก็ให้ที่ประชุม ใหญ่ทำการเลือกตั้งกรรมการที่มาร่วมประชุมคนใดคนหนึ่งให้ทำหน้าที่ประธานในการประชุมคราวนั้น

ข้อ ๓๐ สมาชิก และสมาชิกที่ เป็นตัวแทนกลุ่มสมาชิกที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นหนังสือให้เข้าประชุมจาก กลุ่มสมาชิกเท่านั้น ที่มีสิทธิลงคะแนนเสียงในที่ประชุมใหญ่ สมาชิกที่มีสิทธิลงคะแนนเสียงในที่ประชุม ใหญ่คนละ ๑ เสียง ตัวแทนกลุ่มสมาชิกมีสิทธิลงคะแนนในฐานะตัวแทนกลุ่มสมาชิก ๑ เสียงและในฐานะ สมาชิกเป็นส่วนตัวอีก ๑ เสียง

การลงมติต่างๆ ในที่ประชุมใหญ่ ถ้าธรรมนูญไม่ได้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่น ก็ให้ถือคะแนนเสียงข้างมาก ในที่ประชุม เป็นเกณฑ์ แต่ถ้าคะแนนเสียงที่ลงมติเท่ากัน ก็ให้ประธานในการประชุมเป็นผู้ชี้ขาด

 

หมวดที่ ๖
การเงินและทรัพย์สิน

 

ข้อ ๓๑ การเงินและทรัพย์สินทั้งหมดให้อยู่ในความรับผิดชอบของคณะกรรมการ เงินสดของเอไอ ประเทศไทย ถ้ามีให้นำฝากไว้ในธนาคารหรือสถาบันการเงินหรือซื้อพันธบัตรรัฐบาลตามที่คณะกรรมการกำหนด

ให้คณะกรรมการจัดทำระเบียบเกี่ยวกับการเงินที่ไม่ขัดต่อธรรมนูญนี้เกี่ยวกับการเก็บรักษาเงินสด การอนุมัติเบิกจ่าย การลงบัญชีและอื่นๆ เพื่อให้กรรมการและเจ้าหน้าที่ของเอไอ ประเทศไทยยึดถือปฏิบัติตาม

ข้อ ๓๒ การลงนามถอนเงินจากบัญชีธนาคารในตั๋วเงินหรือเช็คหรือตราสารทางการเงินอื่นใด เมื่อได้ทำขึ้น ลงลายมือชื่อขอถอน รับรอง หรือสลักหลังในนาม เอไอ ประเทศไทย จะต้องมีลายมือชื่อของประธาน หรือเหรัญญิก ลงลายมือชื่อร่วมกับผู้อำนวยการ หรือผู้จัดการสำนักงาน รวมเป็นสองคนพร้อมกับประทับตราของเอไอ ประเทศไทยจึงจะถือว่าใช้ได้

ข้อ ๓๓ เหรัญญิกจะต้องทำบัญชีรายรับรายจ่าย และบัญชีงบดุลให้ถูกต้องตามหลักวิชาการและตามระเบียบการเงินที่คณะกรรมการกำหนด

ข้อ ๓๔ ให้ปีการเงินของเอไอ ประเทศไทยเริ่มตั้งแต่วันที่ ๑ มกราคม สิ้นสุด ๓๑ ธันวาคมของแต่ละปี

ผู้สอบบัญชีจะต้องไม่เป็นกรรมการหรือเจ้าหน้าที่ของเอไอ ประเทศไทย และจะต้องเป็นผู้สอบบัญชีที่ได้รับอนุญาต

ข้อ ๓๕ ผู้สอบบัญชีมีอำนาจหน้าที่ที่จะเรียกเอกสารเกี่ยวกับการเงินและทรัพย์สินจากคณะกรรมการและสามารถจะเชิญกรรมการหรือเจ้าหน้าที่ของเอไอ ประเทศไทยได้ คณะกรรมการจะต้องให้ความร่วมมือกับผู้สอบบัญชีเมื่อได้รับการร้องขอ

 

หมวดที่ ๗
การเปลี่ยนแปลงแก้ไขธรรมนูญ และการเลิก เอไอ ประเทศไทย

 

ข้อ ๓๖ ธรรมนูญของเอไอ ประเทศไทย จะเปลี่ยนแปลงแก้ไขได้โดยมติของที่ประชุมใหญ่เท่านั้น มติของที่ประชุมใหญ่ ในการเปลี่ยนแปลงแก้ไขธรรมนูญจะต้องมีคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า ๒ ใน ๓ ของที่ประชุม

ในกรณีที่ปรากฏว่ามีบทบัญญัติในธรรมนูญนี้ทั้งในปัจจุบันหรืออนาคต ขัดหรือแย้งกับวัตถุประสงค์ หลักการ และข้อกำหนดของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ที่ประชุมใหญ่จะดำเนินการให้มีการแก้ไขธรรมนูญนี้ ให้สอดคล้องกันกับเรื่องดังกล่าว

ข้อ ๓๗ การเลิกเอไอ ประเทศไทย จะเลิกได้ก็โดยมติของที่ประชุมใหญ่ ยกเว้นเป็นการเลิกเพราะเหตุของกฎหมาย มติของที่ประชุมใหญ่ที่ให้เลิก เอไอ ประเทศไทย จะต้องมีคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า ๒ ใน ๓ ของที่ประชุม

ข้อ ๓๘ เมื่อเอไอ ประเทศไทยต้องเลิกไม่ว่าด้วยเหตุใด ๆ ก็ตาม ทรัพย์สินของเอไอ ประเทศไทย ที่เหลืออยู่ หลังจากที่ได้ชำระบัญชีเรียบร้อยแล้ว ให้ตกเป็นของสมาคม มูลนิธิหรือองค์กรสาธารณประโยชน์ตามที่ประชุมใหญ่มีมติเห็นสมควร

 

หมวดที่ ๘
อื่นๆ

 

ข้อ ๓๙ ธรรมนูญฉบับนี้ได้รับการอนุมัติโดยที่ประชุมใหญ่สามัญประจำปี ๒๕๕๗ ของ เอไอ ประเทศไทย เมื่อวันที่ ๒๓ สิงหาคม ๒๕๕๗