Error message

  • Deprecated function: preg_replace(): The /e modifier is deprecated, use preg_replace_callback instead in _filter_pubdlcnt() (line 50 of /home/amnestyo/domains/amnesty.or.th/public_html/old/sites/all/modules/contrib/pubdlcnt/pubdlcnt.module).
  • Deprecated function: preg_replace(): The /e modifier is deprecated, use preg_replace_callback instead in _filter_pubdlcnt() (line 50 of /home/amnestyo/domains/amnesty.or.th/public_html/old/sites/all/modules/contrib/pubdlcnt/pubdlcnt.module).

ความเชื่อและความจริง

ความเชื่อ-ความจริง โทษประหารชีวิตช่วยยับยั้งอาชญากรรมได้จริงหรือ?

ความเชื่อ

โทษประหารชีวิตช่วยยับยั้งอาชญากรรมรุนแรง และทำให้สังคมปลอดภัยขึ้น

ความจริง

หลายรัฐบาลเชื่อว่า การสั่งประหารชีวิตนักโทษหลายร้อยคนหรือมากกว่านั้นจะสามารถแก้ปัญหาสังคมหรือปัญหาการเมืองที่เร่งด่วน และประชาชนจำนวนมากในหลายประเทศยังไม่ตระหนักว่า โทษประหารชีวิตไม่ได้ปกป้องสังคมจากวงจรการกระทำที่รุนแรง มีหลักฐานจากทั่วโลกซึ่งแสดงให้เห็นว่า โทษประหารชีวิตไม่มีผลยับยั้งอาชญากรรมได้อย่างชัดเจน หลายคนอาจแย้งว่าการยกเลิกโทษประหารชีวิตอาจทำให้มีอัตราการเกิดอาชญากรรมเพิ่มขึ้น แต่จากการศึกษาในสหรัฐอเมริกาและแคนาดา ข้อมูลที่ได้ไม่สนับสนุนความคิดเช่นนี้ ในปี 2547 ในสหรัฐฯ อัตราการฆาตกรรมเฉลี่ยในรัฐซึ่งมีโทษประหารชีวิตอยู่ที่ระดับ 5.71 ต่อประชากร 100,000 คน เมื่อเทียบกับอัตรา 4.02 ต่อประชากร 100,000 คนในรัฐซึ่งไม่มีโทษประหารชีวิต เมื่อปี 2546 ในประเทศแคนาดา 27 ปีหลังจากยกเลิกโทษประหารชีวิต อัตราการฆาตกรรมลดลง 44% เมื่อเทียบกับเมื่อปี 2518 สมัยที่ยังมีการใช้โทษประหารชีวิตอยู่ โทษประหารชีวิตไม่ได้ช่วยให้สังคมปลอดภัยขึ้น แต่ยังส่งผลกระทบที่เลวร้ายต่อสังคม การที่รัฐอนุญาตให้มีการประหารบุคคลแสดงถึงการสนับสนุนต่อการใช้กำลัง และการส่งเสริมวงจรความรุนแรง

มีความเชื่อผิด ๆ ว่าผู้ก่ออาชญากรรมร้ายแรงอย่างเช่นการฆาตกรรมได้ทราบถึงผลที่ตามมาหลังจากการกระทำ อันที่จริงแล้ว บ่อยครั้งที่ฆาตกรกระทำการเช่นนั้นในสภาวะที่อารมณ์พลุ่งพล่านและมีอิทธิพลเหนือเหตุผล หรือเป็นเพราะฤทธิ์ของยาเสพติดหรือสุรา ผู้ก่ออาชญากรรมรุนแรงบางคนมักมีสภาพจิตไม่ปรกติหรือไม่มั่นคง แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล พบว่านักโทษที่ถูกประหารชีวิตในสหรัฐฯ ตั้งแต่ปี 2520 เป็นต้นมา มีอย่างน้อยหนึ่งใน 10 คนที่เคยเจ็บป่วยจากอาการทางจิตรุนแรง ส่งผลให้ไม่สามารถเข้าใจเหตุผลถึงโทษประหารหรือผลกระทบที่เกี่ยวข้อง มีความเชื่อกันว่าในคดีเหล่านี้ การใช้โทษประหารชีวิตจะไม่มีผลให้เกิดความยำเกรง นอกจากนั้น ผู้ก่ออาชญากรรมรุนแรงโดยไตร่ตรองไว้ก่อน อาจจะตัดสินใจก่ออาชญากรรมเช่นนั้นต่อไป แม้จะตระหนักดีถึงความเสี่ยงที่จะถูกจับกุม ปัจจัยที่ช่วยยับยั้งอาชญากรรมเช่นนั้นได้ ควรจะเป็นความพยายามในการเพิ่มมาตรการการตรวจสอบ การจับกุม และการลงโทษ

เนื่องจากไม่มีหลักฐานที่ชัดเจนซึ่งแสดงให้เห็นว่าโทษประหารชีวิตจะมีผลช่วยยับยั้งการก่ออาชญากรรม และยังเป็นการกระทำที่เปล่าประโยชน์และเป็นอันตราย เนื่องจากตั้งอยู่บนพื้นฐานความเชื่อที่สนับสนุนการใช้นโยบายโทษประหารชีวิตเป็นนโยบายสาธารณะ โทษประหารชีวิตเป็นโทษที่รุนแรง แต่ไม่สามารถยับยั้งอาชญากรรมได้

ความเชื่อ

โทษประหารชีวิตช่วยลดอาชญากรรมด้านยาเสพติด

ความจริง

ในเดือนมีนาคม 2551 ผู้อำนวยการบริหารสำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UN Office on Drugs and Crime - UNODC) เรียกร้องให้ยุติการใช้โทษประหารชีวิตสำหรับความผิดด้านยาเสพติด “แม้ว่ายาเสพติดจะให้ผลร้ายแรง แต่ข้าพเจ้าไม่เชื่อว่าเราจำเป็นต้องสังหารบุคคลเนื่องจากเรื่องยาเสพติด” การใช้โทษประหารชีวิตสำหรับความผิดด้านยาเสพติดเป็นการละเมิดกฎหมายนานาชาติ ข้อ 6(2) ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights - ICCPR) ระบุว่า “ในประเทศที่ยังมิได้ยกเลิกโทษประหารชีวิต การลงโทษประหารชีวิตอาจกระทำได้เฉพาะคดีอุกฉกรรจ์ที่สุดตามกฎหมายที่ใช้” ในเดือนเมษายน 2550 ผู้รายงานพิเศษแห่งสหประชาชาติว่าด้วยการสังหารโดยพลการหรือนอกกระบวนการกฎหมาย ซึ่งทำหน้าที่เป็นพยานผู้ชำนาญการในการไต่สวนความชอบตามรัฐธรรมนูญแห่งอินโดนีเซีย ได้กล่าวกับศาลรัฐธรรมนูญว่า “ความตายไม่ใช่การแก้ปัญหาที่เหมาะสมต่อความผิดด้านการค้ายาเสพติด” นอกจากนี้ประเทศอินโดนีเซีย จีน อิหร่าน มาเลเซีย ซาอุดิอาระเบีย สิงคโปร์ และไทย ต่างยังเป็นประเทศที่ใช้โทษประหารต่อความผิดด้านยาเสพติด อย่างไรก็ตาม ไม่มีหลักฐานชัดเจนว่าการใช้โทษประหารชีวิตต่ออาชญากรรมเหล่านั้น มีผลช่วยยับยั้งการก่ออาชญากรรมมากกว่าการจำคุกในระยะยาว

ความเชื่อ

ผู้ที่ก่ออาชญากรรมร้ายแรงหรือสังหารผู้อื่นก็สมควรจะถูกสังหารเช่นกัน

ความจริง

เราไม่สามารถใช้โทษประหารชีวิตต่อกรณีการสังหารบุคคลได้ หากรัฐกระทำเช่นนั้นก็เท่ากับสะท้อนภาพของความจงใจของอาชญากรที่จะใช้ความรุนแรงต่อเหยื่อ นอกจากนั้น ระบบยุติธรรมทางอาญาทั้งปวงย่อมมีความเสี่ยงที่จะนำไปสู่การเลือกปฏิบัติและการตัดสินผิดพลาด ไม่มีระบบใดที่จะสามารถตัดสินได้อย่างเป็นธรรม สม่ำเสมอ และปราศจากข้อบกพร่อง เมื่อเป็นการตัดสินว่าใครควรมีชีวิตอยู่และใครไม่ควรมีชีวิตอยู่ การตัดสินตามอัตวินิจฉัยและความเห็นของสาธารณะอาจมีอิทธิพลต่อกระบวนการทางอาญา ตั้งแต่ช่วงเริ่มการจับกุมไปจนถึงการพิจารณาการขออภัยโทษในช่วงนาทีสุดท้าย

สิทธิมนุษยชนเป็นเอกสิทธิติดตัว และบุคคลพึงได้รับสิทธินี้เสมอเหมือนกันทุกคนโดยไม่คำนึงถึงสถานภาพ ชาติพันธุ์ ศาสนา หรือชาติกำเนิด เป็นสิทธิที่ไม่อาจพรากจากบุคคล ไม่ว่าบุคคลนั้นจะก่ออาชญากรรมเช่นใด สิทธิมนุษยชนเป็นสิ่งที่บุคคลทุกคนพึงมี ตั้งแต่บุคคลเลวร้ายสุดไปถึงดีสุด และช่วยคุ้มครองเราทุกคน

ประสบการณ์ที่ผ่านมาแสดงให้เห็นว่าเมื่อมีการใช้โทษประหารชีวิต เราอาจพบว่ามีบางคนที่ถูกสังหาร แต่คนที่ก่ออาชญากรรมคล้ายคลึงกันหรือร้ายแรงกว่ากลับไม่ได้รับโทษเช่นนี้ นักโทษที่ถูกประหารไม่ได้มีแค่เพียงผู้ก่ออาชญากรรมร้ายแรงสุด แต่ยังรวมถึงคนยากจนซึ่งไม่สามารถว่าจ้างทนายความที่มีฝีมือเพื่อแก้ต่างให้กับตนเองได้

ความเชื่อ

ข้อเรียกร้องให้ยุติโทษประหารชั่วคราวทั่วโลก อันที่จริงแล้วเป็นความพยายามที่ชาติตะวันตกจะ “บังคับให้เราเชื่อตามคุณค่าทางวัฒนธรรมของพวกเขา”

ความจริง

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลยินดีที่ในหลายวัฒนธรรมและศาสนาต่างมีคำสอนที่เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนแฝงอยู่หลายระดับ และเชื่อว่าคำสอนเหล่านี้จะช่วยให้เกิดความเข้าใจมากขึ้นต่อสิทธิมนุษยชน ในเวลาเดียวกัน พวกเราเชื่อว่าสิทธิมนุษยชนเป็นคุณค่าสากล ไม่อาจแบ่งแยกได้และเชื่อมโยงกัน แม้ว่าสิทธิมนุษยชนจะเกิดขึ้นและพัฒนาในบริบทของชาติตะวันตก แต่ก็ไม่ใช่คุณค่าของชาติตะวันตกเท่านั้น หากยังพัฒนาขึ้นจากหลายจารีตที่แตกต่างกัน และรัฐภาคีทุกรัฐขององค์การสหประชาชาติต่างยอมรับใช้เป็นบรรทัดฐาน และพร้อมที่จะปฏิบัติตาม

เป็นที่น่าสังเกตว่าหลายประเทศซึ่งยกเลิกโทษประหารชีวิต มีศาสนาและวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน จึงไม่อาจพูดได้ว่าการยกเลิกโทษประหารชีวิตเป็นวาระที่ผลักดันโดยประชาชนจากภูมิภาคใดภูมิภาคหนึ่งของโลก

ความเชื่อ

การขู่จะใช้โทษประหารชีวิตเป็นยุทธศาสตร์ที่มีประสิทธิภาพที่ช่วยป้องกันลัทธิก่อการร้าย

ความจริง

ผู้ที่พร้อมจะปฏิบัติการรุนแรงขนานใหญ่เพื่อให้เกิดความหวาดกลัวต่อสังคม กระทำเช่นนั้นแม้จะตระหนักดีว่าตนเองอาจได้รับอันตรายสาหัส ซึ่งแสดงว่าพวกเขาแทบไม่ใส่ใจต่อความปลอดภัยของตนเองเลย การสั่งประหารบุคคลเช่นนั้นเท่ากับช่วยส่งเสริมชื่อเสียงของกลุ่มที่พวกเขาเป็นสมาชิกอยู่ ทำให้เกิดวีรบุรุษพลีชีพและเป็นเหตุให้กลุ่มเหล่านั้นนำไปรณรงค์ส่งเสริมอุดมการณ์ของตนต่อไปได้ แต่หลายประเทศเลือกใช้โทษประหารชีวิตเพื่อควบคุมลัทธิก่อการร้าย ในเดือนพฤศจิกายน 2548 อิรักผ่านกฎหมายต่อต้านลัทธิก่อการร้าย ซึ่งให้นิยามเกี่ยวกับลัทธิก่อการร้ายอย่างกว้าง ๆ และได้ระบุถึงการกระทำที่ถือเป็นการก่อการร้าย แม้การกระทำที่ไม่ได้นำไปสู่การสูญเสียชีวิต และกำหนดบทลงโทษถึงขั้นประหารชีวิต กฎหมายนี้และกฎหมายอื่น ๆส่งผลให้มีการสั่งประหารชีวิตคนจำนวนมากในอิรัก

ความเชื่อ

โทษประหารชีวิตเป็นสิ่งที่ยอมรับได้ตราบที่คนส่วนใหญ่สนับสนุน

ความจริง

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลยอมรับสิทธิของประเทศต่าง ๆ ที่จะกำหนดกฎหมายของตนเอง อย่างไรก็ตาม กฎหมายเหล่านั้นจะต้องพัฒนาขึ้นภายใต้ขอบเขตการให้ความเคารพต่อสิทธิมนุษยชน ประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาเต็มไปด้วยการละเมิดสิทธิมนุษยชน ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากคนส่วนใหญ่ แต่เมื่อมองย้อนไปในอดีต พวกเราต่างรู้สึกหดหู่ใจต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชนเช่นนั้น การบังคับเป็นทาส การแบ่งแยกด้านเชื้อชาติ และการกลุ้มรุมทำร้ายแบบศาลเตี้ยเคยได้รับความสนับสนุนอย่างกว้างขวางในสังคมต่าง ๆ แต่ถือเป็นการละเมิดอย่างรุนแรงต่อสิทธิมนุษยชนของผู้เสียหาย

เป็นธรรมดาที่ประชาชนอาจคาดหวังให้ผู้นำกระทำการอย่างเด็ดเดี่ยวเพื่อต่อต้านความรุนแรง และแสดงความโกรธเกลียดชังต่อผู้ที่มีความผิดฐานก่ออาชญากรรมที่โหดร้าย แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเชื่อว่านักการเมืองควรเป็นผู้นำที่สนับสนุนสิทธิมนุษยชน ด้วยการต่อต้านโทษประหารชีวิต และชี้แจงให้ฐานเสียงของพวกเขาตระหนักว่า เหตุใดรัฐจึงไม่ควรใช้โทษประหารชีวิต

จากการวิจัยกว่า 30 ปีเกี่ยวกับโทษประหารชีวิต แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเชื่อว่าการที่คนจำนวนมากสนับสนุนโทษประหารชีวิตเป็นเพราะความปรารถนาให้สังคมปลอดจากอาชญากรรม ดังจะเห็นได้จากการสำรวจความเห็นของประชาชนในสหรัฐฯ และประเทศอื่น ๆ ซึ่งแสดงให้เห็นว่า เมื่อมีการเสนอโทษจำคุกตลอดชีวิตโดยไม่สามารถขอลดหย่อนโทษได้แทนการประหารชีวิต ทำให้ความนิยมต่อโทษประหารชีวิตลดลงอย่างมาก ในสหรัฐฯ จากการสำรวจความเห็นของประชาชนโดยบริษัทกัลลัป เมื่อเดือนพฤษภาคม 2549 พบว่า เสียงสนับสนุนต่อโทษประหารชีวิตลดลงจาก 65 เป็น 48% เมื่อเสนอให้ใช้โทษจำคุกตลอดชีวิตโดยไม่สามารถขอลดหย่อนโทษได้แทน

ความเชื่อ

การประหารชีวิตเป็นวิธีแก้ปัญหาอาชญากรรมที่รุนแรงซึ่งคุ้มค่ามากที่สุด

ความจริง

เราไม่ควรนำมาตรการที่ช่วยประหยัดต้นทุนมาใช้ หากนำไปสู่การให้อภัยต่อความรุนแรงและการยอมให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนขึ้น ปัจจัยด้านการเงินไม่ควรมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจว่าจะสังหารชีวิตบุคคลหรือไม่ การใช้โทษประหารชีวิตเพื่อลดจำนวนนักโทษเป็นสิ่งที่เปล่าประโยชน์ ยกตัวอย่างเช่น สหรัฐฯ มีจำนวนนักโทษประมาณ 2.2 ล้านคน แต่มีนักโทษประหารเพียงประมาณ 3,000 คน ถ้ามีการสังหารนักโทษเหล่านี้จนหมด ก็แทบไม่ได้ทำให้จำนวนนักโทษลดลงอย่างเห็นได้ชัดเลย

ความเชื่อ

การฉีดยาเพื่อประหารชีวิตเป็นวิธีสังหารบุคคลที่ไม่ก่อให้เกิดความเจ็บปวดและมีมนุษยธรรมมากที่สุด

ความจริง

การฉีดยาเพื่อประหารทำให้เกิดปัญหาขึ้นมาหลายครั้ง ครั้งแรกที่มีการฉีดยาเพื่อประหารที่กัวเตมาลาเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2541 เจ้าหน้าที่ซึ่งทำหน้าที่ฉีดยาเพื่อประหารชีวิตนายมานูเอล มาติเนซ โคโรนาโด (Manuel Martínez Coronado) รู้สึกตื่นเต้นเป็นอย่างมาก (มีรายงานว่าส่วนหนึ่งเป็นเพราะเสียงร้องห่มร้องไห้ของภรรยาและลูกของนักโทษ) และทำให้พวกเขาใช้เวลานานมากกว่าจะติดตั้งท่อสายยางเพื่อฉีดยาพิษ แต่แล้วก็เกิดปัญหาไฟดับระหว่างการประหารชีวิตซึ่งทำให้ยาพิษที่กำลังปล่อยอยู่หยุดลง และกว่านักโทษจะเสียชีวิตก็ใช้เวลาถึง 18 นาที และยังมีการถ่ายทอดการประหารครั้งนี้ทางโทรทัศน์ด้วย ในสหรัฐฯ มีการสั่งยุติการฉีดยาเพื่อประหารหลายครั้ง เนื่องจากปัญหาต่าง ๆ อย่างเช่น การที่ผนังเส้นเลือดของนักโทษบางมาก เนื่องจากการใช้ยาด้วยการฉีด

กรณีล่าสุดเกี่ยวข้องกับนายโรเมลล์ บรูม (Romell Broom) อายุ 53 ปีซึ่งเป็นคนผิวดำ และรัฐโอไฮโอล้มเหลวที่จะประหารชีวิตเขาด้วยการฉีดยา เมื่อวันที่ 18 กันยายน ทนายความของโรเมลล์ บรูมได้ยื่นเรื่องต่อศาลแขวงเพื่อขอให้รัฐโอไฮโอยุติความพยายามประหารชีวิตเขาอีกครั้ง หรืออย่างน้อยควร “ยุติความพยายามที่จะใช้ขั้นตอนปฏิบัติและวิธีการที่บกพร่องและไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญแบบที่พวกเขาใช้เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2552” ทนายความระบุว่า การที่รัฐประสบความล้มเหลว กล่าวคือการที่เจ้าหน้าที่ไม่สามารถค้นหาเส้นเลือดที่จะสามารถฉีดยาเพื่อประหารชีวิตนักโทษได้แม้จะพยายามตั้งหลายครั้ง “เป็นการกระทำที่เข้าข่ายการทรมานเพราะทำให้นายโรเมลล์ บรูมต้องเผชิญกับความตายที่เกิดขึ้นอย่างช้า ๆ และต่อเนื่อง” โรเมลล์ บรูมได้ลงนามในคำร้องขอให้รัฐทบทวนคำสั่งประหารชีวิตต่อเขา (โปรดดู “Stay Extended Following Failed Execution”

สำหรับรายละเอียดเพิ่มเติม โปรดดู http://www.amnesty.org/en/library/info/AMR51/104/2009/en)

สหรัฐฯ ได้นำการฉีดยาเพื่อประหารมาใช้ตั้งแต่เกือบ 30 ปีที่แล้ว โดยใช้เป็นครั้งแรกเมื่อปี 2525 นับแต่นั้นมา มีการใช้วิธีการดังกล่าวเพื่อประหารชีวิตนักโทษกว่า 900 คนในสหรัฐฯ และถูกใช้เพื่อทดแทนการประหารด้วยการใช้เก้าอี้ไฟฟ้า การแขวนคอ การเข้าห้องแก๊ส และการยิง เกือบ 20 ปีหลังมีการกำหนดในกฎหมายเพื่ออนุญาตให้ใช้การฉีดยาเพื่อประหารในสหรัฐฯ ในเวลาต่อมาประเทศอื่น ๆ ก็นำวิธีการนี้ไปใช้ด้วย อย่างเช่น จีน กัวเตมาลา ฟิลิปปินส์ (ฟิลิปปินส์ยกเลิกโทษประหารชีวิตไปเมื่อเดือนมิถุนายน 2549) ไต้หวันและไทย

การฉีดยาเพื่อประหารช่วยหลีกเลี่ยงผลลัพธ์ที่ไม่พึงปรารถนาของการประหารชีวิตรูปแบบอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นการตัดแยกอวัยวะของร่างกาย เลือดไหลเนื่องจากการฟัน กลิ่นของเนื้อที่ไหม้เนื่องจากการช็อตด้วยไฟฟ้า ภาพที่สยดสยองและ/หรือเสียงที่เกิดขึ้นจากการประหารด้วยการเข้าห้องแก๊ส และการแขวนคอ ปัญหาจากการถ่ายอุจจาระและปัสสาวะเรี่ยราดระหว่างการประหาร ด้วยเหตุดังกล่าว พวกเขาจึงใช้วิธีการนี้เพื่อประหารชีวิตนักโทษแทน อย่างไรก็ตาม การฉีดยาเพื่อประหารทำให้เกิดความเสี่ยงมากขึ้นว่า บุคลากรทางการแพทย์จะเข้ามามีส่วนร่วมในการสังหารในนามของรัฐ ซึ่งขัดต่อจรรยาบรรณแพทย์ที่ดำรงอยู่เป็นเวลานาน

การประหารชีวิตไม่ว่ารูปแบบใดเป็นสิ่งที่ไร้มนุษยธรรม วิธีการประหารที่มีอยู่ต่างสร้างความเจ็บปวดและทำให้เกิดสภาพที่ไม่น่าดู นอกจากนั้น เราควรระลึกไว้ว่า โทษประหารชีวิตไม่ได้สำคัญเฉพาะแค่ช่วงเวลาไม่กี่นาทีระหว่างที่มีการนำตัวนักโทษจากห้องขังเพื่อไปประหาร หากนักโทษเหล่านี้ต้องดำรงชีวิตด้วยความหวาดกลัวต่อการประหารชีวิต นับตั้งแต่ช่วงที่ศาลตัดสินไปจนถึงช่วงที่หมดสติและเสียชีวิตไป

การค้นหาวิธีสังหารบุคคล “อย่างมีมนุษยธรรม” น่าจะเป็นเพียงความพยายามของรัฐบาลที่ยังคงสนับสนุนการประหารชีวิตต่อไป เพียงแต่ต้องการภาพลักษณ์ที่มีมนุษยธรรมมากขึ้น เพื่อให้เป็นที่พอใจต่อสาธารณะ

ที่มา

http://www.amnesty.org/en/library/asset/ACT50/015/2008/en/82ba002d-3634-...

http://www.amnesty.org/en/library/asset/ACT50/010/2007/en/f14c87db-d3a2-...

กรณีตัวอย่าง

การประหารชีวิตที่ล้มเหลวทำให้ศาลเลื่อนการประหารออกไป

ผู้พิพากษาศาลกลางแห่งสหรัฐฯ ได้ชะลอการประหารชีวิตนายโรเมลล์ บรูม (Romell Broom) ออกไปอีกสองเดือน นายโรเมลล์ บรูม อายุ 53 ปีเป็นคนผิวดำ และรัฐโอไฮโอล้มเหลวที่จะประหารชีวิตเขาด้วยการฉีดยาเมื่อวันที่ 15 กันยายน

ผู้พิพากษาเกรกอรี ฟรอสต์ (Gregory Frost) แห่งศาลแขวงสหรัฐฯ ที่แขวงโอไฮโอใต้ มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวเมื่อวันที่ 18 กันยายน ให้เลื่อนการประหารชีวิตนายโรเมลล์ บรูมออกไปจนถึงวันที่ 28 กันยายน ในคำสั่งเมื่อวันที่ 22 กันยายน ผู้พิพากษาฟรอสต์ได้ขยายเวลาการประหารออกไปสองเดือน และคำสั่งนี้จะสิ้นสุดลงเมื่อเวลา 23.59 น.ของวันที่ 30 พฤศจิกายน 2552

เมื่อวันที่ 18 กันยายน ทนายความของโรเมลล์ บรูมได้ยื่นเรื่องต่อศาลแขวงเพื่อขอให้รัฐโอไฮโอยุติความพยายามประหารชีวิตเขาอีกครั้ง หรืออย่างน้อยควร “ยุติความพยายามที่จะใช้ขั้นตอนปฏิบัติและวิธีการที่บกพร่องและไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญแบบที่พวกเขาใช้เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2552” ทนายความระบุว่า การที่รัฐประสบความล้มเหลว กล่าวคือการที่เจ้าหน้าที่ไม่สามารถค้นหาเส้นเลือดที่จะสามารถฉีดยาเพื่อประหารชีวิตนักโทษได้แม้จะพยายามตั้งหลายครั้ง “เป็นการกระทำที่เข้าข่ายการทรมานเพราะทำให้นายโรเมลล์ บรูมต้องเผชิญกับความตายที่เกิดขึ้นอย่างช้า ๆ และต่อเนื่อง” ในคำร้อง มีการชี้แจงเหตุผลว่าก่อนที่จะเกิดการประหาร “บรูมไม่ได้รับสิทธิที่จะปรึกษากับทนายความเป็นการส่วนตัว และเมื่อเป็นที่ชัดเจนว่ากระบวนการประหารชีวิตจะล้มเหลว เจ้าหน้าที่ปฏิเสธไม่ให้ทนายความเข้าพบกับเขา และเขาถูกปฏิเสธไม่ให้ได้พบกับทนายความ โรเมลล์ บรูมได้ลงนามในคำร้องขอให้รัฐทบทวนคำสั่งประหารชีวิตต่อเขา (โปรดดูด้านหลัง)

โรเมลล์ บรูมต้องโทษประหารเป็นเวลาเกือบ 25 ปี เขาถูกสั่งลงโทษประหารเมื่อปี 2528 จากความผิดการข่มขืนและสังหารเด็กหญิงไทรนา มิดเดิลตัน (Tryna Middleton) อายุ 14 ปี เมื่อเดือนกันยายน 2527 หลังจากศาลอุทธรณ์พิพากษายืน โรเมลล์ บรูมได้ลงนามในคำร้องให้มีการตรวจสอบว่ากระบวนการฉีดยาเพื่อประหารของรัฐโอไฮโอชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ อย่างไรก็ตาม ศาลได้ยกคำร้องดังกล่าวและระบุว่าควรมีการยื่นคำร้องให้ตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญตั้งแต่ก่อนหน้านั้น

การประหารชีวิตที่ล้มเหลวทำให้ศาลเลื่อนการประหารออกไป

ข้อมูลเพิ่มเติม

ในคำร้องเมื่อวันที่ 17 กันยายน นายโรเมลล์ บรูม (Romell Broom) ได้บรรยายถึงสิ่งที่เกิดขึ้นกับเขาเมื่อสองวันก่อนหน้านี้ ระหว่างที่รัฐเตรียมการเพื่อประหารเขา เขาระบุว่าหลังจากที่ศาลกลางได้ยกคำร้องเพื่ออุทธรณ์ของเขา พัศดีเรือนจำได้มาที่ห้องขัง และได้ “อ่านหมายประหารให้ผมฟัง” หลังจากนั้น พยาบาลสองคนได้พยายามจะค้นหาเส้นเลือดที่ฉีดยาได้ “พยาบาลหญิงได้พยายามสามครั้งเพื่อจะค้นหาเส้นเลือดที่ใช้ได้ในท่อนแขนด้านซ้ายของผม ส่วนบุรุษพยาบาลพยายามสามครั้งที่จะค้นหาเส้นเลือดที่ใช้การได้ที่ท่อนแขนด้านขวาของผม หลังจากพยายามอยู่หกครั้ง พยาบาลบอกให้ผมหยุดพัก”

หลังจากพักไปสองนาทีครึ่ง พยาบาลหญิงได้พยายามจะเจาะเส้นเลือดที่แขนด้านซ้ายของนายบรูมอีกครั้ง เขาระบุว่า “เธอคงเจาะเข้าที่กล้ามเนื้อ เพราะทำให้ผมเจ็บปวดจนร้องลั่น” บุรุษพยาบาลก็ได้พยายามอีกครั้งโดยการค้นหาเส้นเลือดที่แขนขวา ในตอนแรก เขาสามารถหาจนพบเส้นเลือดได้ แต่เมื่อพยายามปล่อยยาเข้าไปในเส้นเลือด “เขาก็ต้องล้มเหลวและเลือดได้ไหลออกมาจากแขนของผม” ทางพยาบาลจึงต้องหยุดพักอีกครั้ง จนถึงจุดที่นายโรเมลล์ บรูมบอกว่า เขา “เกิดอาการเจ็บปวดอย่างมาก” หลังจากมีการเอาผ้าขนหนูร้อนมาประคบและนวดที่แขนด้านซ้ายของนายโรเมลล์ บรูม บุรุษพยาบาล “พยายามจะเจาะเส้นเลือดที่ท่อนแขนซ้ายของผมอีกครั้ง และเจาะอีกสามครั้งที่มือซ้าย” โรเมลล์ บรูมบอกว่าได้ยินพยาบาลพูดว่า “การเสพเฮโรอีนได้ทำลายเส้นเลือดของผม” “ผมรู้สึกเสียใจกับสิ่งที่พยาบาลพูด เพราะที่ผ่านมาผมไม่เคยใช้เฮโรอีนหรือใช้ยาเสพติดด้วยการฉีดเลย”

คำร้องของโรเมลล์ บรูมยังระบุต่อไปว่า เขาได้พยายามช่วยเจ้าหน้าที่ “ด้วยการเอาสายยางรัดแขนของผมเอง” และ “เจ้าหน้าที่คุมประพฤติได้เดินมาหา และแตะเบา ๆ ที่มือเพื่อแสดงว่าเขาเห็นเส้นเลือด และพยายามช่วยพยาบาลที่จะหาเส้นเลือด” คำร้องยังระบุต่อไปว่า “คณะผู้ทำการประหารแนะนำผมว่า เราคงจะต้องหยุดพักอีกครั้ง และบอกให้ผมผ่อนคลาย” ถึงตอนนั้น “ผมรู้สึกเสียใจมาก ผมเริ่มร้องไห้เพราะความเจ็บปวด และแขนเริ่มบวมขึ้น พยาบาลพยายามใช้เข็มเจาะในบริเวณที่บวมช้ำ” โรเมลล์ บรูมขอพบกับทนายความ แต่คำขอของเขาถูกปฏิเสธ

โรเมลล์ บรูมระบุว่า “หัวหน้าพยาบาล” ได้มาที่ห้องและ “พยายามจะเปิดเส้นเลือดที่ข้อเท้าด้านขวาของผม” ปรากฏว่าเข็มเจาะไปที่กระดูก และ “ทำให้เกิดความเจ็บปวดมาก” จากนั้นหัวหน้าพยาบาลพยายามเจาะเส้นเลือดที่ขาด้านซ้ายท่อนล่าง ในขณะที่บุรุษพยาบาลพยายามเจาะที่ข้อเท้าขวา เมื่อไม่เป็นผล หัวหน้าพยาบาลได้ออกจากห้องไปและเอาเข็มไปด้วย จากนั้นบุรุษพยาบาลได้พยายามจะหาช่องเจาะที่มือขวาของบรูมอีกสองครั้ง แต่ถึงจุดนี้บรูมบอกว่า “ดูเหมือนว่าพวกเขาคงทำอะไรกับแขนซ้ายของผมไม่ได้แล้ว เพราะมันบวมและช้ำ” เกี่ยวกับความเจ็บปวด เขาบอกว่า “มันเจ็บปวดอย่างมาก” และในช่วงนั้น “ผมได้ถูกเข็มเจาะอย่างน้อย 18 ครั้งตามที่ต่าง ๆ ของร่างกาย” การประหารชีวิตจึงต้องยุติลง

ในขณะนั้น โรเมลล์ บรูมมีกำหนดถูกประหารชีวิตในวันที่ 22 กันยายน ในคำร้องเขาระบุว่า “การรอที่จะถูกประหารอีกครั้งเป็นเรื่องทรมาน ผมเกิดความเคร่งเครียดอย่างมากเมื่อนึกถึงว่ารัฐโอไฮโอจะทำให้เกิดความเจ็บปวดทางกายกับผมอีกครั้งในสัปดาห์หน้า ผมได้รับเสียงเตือนซ้ำแล้วซ้ำอีกว่า ในสัปดาห์หน้าผมจะต้องถูกรัฐโอไฮโอทรมานแบบที่พวกเขากระทำต่อผมเมื่อวันอังคารที่ 15 กันยายน 2552 เพราะยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงวิธีปฏิบัติในการประหารชีวิตของรัฐ และยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงเนื่องจากสภาพเส้นเลือดของผม”

UA: 245/09 Index: AMR 51/105/2009 Issue วันที่: 24 กันยายน 2552

5 ข้อเท็จจริงที่คุณอาจยังไม่รู้ เกี่ยวกับโทษประหารชีวิต

แม้หลายองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนพยายามรณรงค์ยกเลิกโทษประหารชีวิต ด้วยเหตุผลที่ว่าโทษประหารชีวิตเป็นการละเมิดสิทธิที่จะมีชีวิตซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ อีกทั้งยังเป็นการลงโทษที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม และย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ รวมทั้งงานวิจัยมากมายจากนานาประเทศได้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าโทษประหารชีวิตไม่มีความเชื่อมโยงใดๆ กับการเพิ่มขึ้น หรือลดลงของอาชญากรรม แต่ยังมีอีกหลายคำถามเกี่ยวกับโทษประหารชีวิต วันนี้จึงขอนำเสนอ 5 ความเชื่อและความจริงเกี่ยวกับโทษประหารชีวิตที่คุณอาจยังไม่รู้ เพื่อเป็นการเปิดอีกหนึ่งมุมมองในประเด็นนี้

ความเชื่อ

โทษประหารชีวิตสามารถป้องกันอาชญากรรมและทำให้สังคมมีความปลอดภัยขึ้น

ความจริง

ไม่มีหลักฐานที่แน่ชัดว่าโทษประหารชีวิตจะสามารถป้องกันอาชญากรรมได้ 

อย่างเช่นที่ประเทศแคนาดา ปัจจุบันหลังจากที่ยกเลิกโทษประหารชีวิตมากว่า 30 ปี สถิติการก่ออาชญากรรมลดลงมากเมื่อเทียบกับปี 2519 ที่ยังมีโทษประหารชีวิตอยู่ และจากการศึกษาในระยะเวลา 35ปี เพื่อเปรียบเทียบสถิติการฆาตกรรมระหว่างฮ่องกงซึ่งไม่มีโทษประหารชีวิตกับสิงคโปร์ที่มีจำนวนประชากรใกล้เคียงกันแต่ยังมีโทษประหารชีวิต พบว่าโทษประหารชีวิตนั้นมีผลกระทบที่น้อยมากต่อสถิติการก่ออาชญากรรม

ความเชื่อ

การประหารชีวิตเป็นมาตรการที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันการโจมตีจากกลุ่มผู้ก่อการร้าย

ความจริง

การประหารชีวิตไม่สามารถป้องกันไม่ให้คนใดคนหนึ่งวางแผนเพื่อที่จะฆ่าหรือทำร้ายคนอื่นเพื่อผลประโยชน์ทางการเมืองหรืออุดมการณ์ได้ เจ้าหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบในการต่อต้านการก่อการร้ายได้เปิดเผยหลายครั้งว่าผู้ก่อการร้ายที่ถูกประหารชีวิตนั้นเปรียบได้กับการพลีชีพเพื่อศาสนาหรืออุดมการณ์ และกลุ่มต่อต้านติดอาวุธได้ออกมาเปิดเผยด้วยว่าโทษประหารชีวิตนั้นเป็นเหมือนข้ออ้างที่จะใช้ในการแก้แค้นและมันก็จะนำมาซึ่งการใช้ความรุนแรงไม่จบไม่สิ้น

ความเชื่อ

โทษประหารชีวิตนั้นเป็นสิ่งดีตราบใดที่ยังมีคนส่วนใหญ่สนับสนุนอยู่

ความจริง

ในอดีตนั้นมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนมากมายจากการสนับสนุนของคนหมู่มาก แต่เมื่อเวลาผ่านไปการกระทำเหล่านั้นกลับถูกมองว่าเป็นเรื่องน่าหวาดกลัว การตกเป็นทาส การแบ่งแยกเชื้อชาติ และการลงประชาทัณฑ์ ได้รับการสนับสนุนจากคนหมู่มากทั้งนั้นซึ่งมันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ร้ายแรงที่สุด และรัฐบาลก็ควรมีหน้าที่ที่จะปกป้องสิทธิของประชาชนทุกคน ถึงแม้ว่าบางครั้งมันจะขัดกับความต้องการของคนส่วนใหญ่ก็ตาม นอกจากนี้ ความเห็นของประชาชนส่วนใหญ่นั้นจะเปลี่ยนแปลงได้ขึ้นอยู่กับผู้นำทางการเมืองและการให้ข้อมูลที่เป็นความจริงเกี่ยวกับโทษประหารชีวิต

ความเชื่อ

คนที่ถูกประหารชีวิตทุกคนได้รับการพิสูจน์แล้วว่าผิดจริงในการก่อคดีอาชญากรรม

ความจริง

มีนักโทษเป็นร้อยจากทั่วโลกที่ถูกประหารชีวิตจากการพิจารณาคดีที่ไม่เป็นธรรม ซึ่งรวมถึงการเค้นเอาคำสารภาพจากนักโทษโดยการทรมานและการปฏิเสธให้นักโทษได้ใช้ทนายความ ประเทศที่มีการประหารชีวิตมากที่สุดนั้นเป็นประเทศที่มีความจริงจังอย่างมากด้านกระบวนการยุติธรรม อย่างเช่น จีน อิหร่าน อิรัก และจากการที่อเมริกาละเว้นโทษประหารชีวิตให้กับนักโทษ 144 คนในปี 2516 แสดงให้เห็นว่าถึงแม้จะมีมาตรการคุ้มครองทางกฎหมายมากมายแค่ไหน กระบวนการยุติธรรมก็มีการผิดพลาดได้อยู่ดี และตราบเท่าที่คนเรามีการผิดพลาดกันได้ ความเสี่ยงในการที่จะประหารชีวิตผู้บริสุทธิ์ก็ย่อมเกิดขึ้นได้เสมอ

ความเชื่อ

ญาติของผู้ถูกฆาตกรรมต้องการการลงโทษที่สาสม

ความจริง

การเคลื่อนไหวคัดค้านโทษประหารชีวิตทั่วโลกมีผู้เข้าร่วมหลายคนที่สูญเสียคนที่ตนเองรัก หรือแม้กระทั่งเป็นเหยื่อของความรุนแรงและอาชญากรรมเอง แต่เพราะเหตุผลทางจริยธรรมและความเชื่อทางศาสนาจึงไม่อยากให้มีโทษประหารชีวิตในนามของพวกเขา และในสหรัฐอเมริกา องค์กร “Murder Victims’ Families for Human Rights” ซึ่งเป็นองค์กรสิทธิมนุษยชนเพื่อญาติของเหยื่อที่ถูกฆาตกรรม ก็ได้ออกมาเคลื่อนไหวเพื่อล้มเลิกโทษประหารชีวิต อย่างเช่นในรัฐนิวแฮมป์เชียร์