Error message

  • Deprecated function: preg_replace(): The /e modifier is deprecated, use preg_replace_callback instead in _filter_pubdlcnt() (line 50 of /home/amnestyo/domains/amnesty.or.th/public_html/old/sites/all/modules/contrib/pubdlcnt/pubdlcnt.module).
  • Deprecated function: preg_replace(): The /e modifier is deprecated, use preg_replace_callback instead in _filter_pubdlcnt() (line 50 of /home/amnestyo/domains/amnesty.or.th/public_html/old/sites/all/modules/contrib/pubdlcnt/pubdlcnt.module).

สถานการณ์ในไทย

โทษประหารชีวิตในประเทศไทย

โทษประหารชีวิตเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน ตามปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ข้อ 5 “บุคคลใดจะถูกทรมานหรือได้รับการปฏิบัติหรือการลงทัณฑ์ซึ่งทารุณโหดร้าย, ไร้มนุษยธรรมหรือย่ำยีศักดิ์ศรีไม่ได้” ประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป ได้มีการรวมตัวกันเพื่อยกเลิกโทษประหารชีวิต เพราะถือว่า การที่รัฐบาลประหารชีวิตนักโทษซึ่งถือว่าเป็นประชาชนคนหนึ่งนั้น เป็นการกระทำที่น่ารังเกียจ ซึ่งรัฐเองไม่ควรทำแบบเดียวกับที่อาชญากรกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน องค์การสหประชาชาติเอง ก็ได้มีการเรียกร้องให้ทั่วโลกพักการลงโทษประหารชีวิต ส่วนในประเทศไทยนั้น โทษประหารชีวิตยังคงมีผลบังคับใช้ และเมื่อทบทวนประวัติศาสตร์โทษประหารชีวิตในประเทศไทย แม้ว่าในช่วงเวลาที่ผ่านมา ได้มีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการประหารชีวิตให้มีความทรมานน้อยลง แต่อย่างไรก็ตาม การบังคับใช้โทษประหารชีวิตก็ยังเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนซึ่งรัฐเป็นผู้กระทำเสียเอง

โทษประหารชีวิตถูกนำมาใช้ในกระบวนการยุติธรรมของไทยตั้งแต่ปี พ.ศ. 1895 โดยได้มีการออกพระราชกฤษฎีกาคดีอาญาและการลงทัณฑ์ หรือ พระอัยการอาญาหลวง ผู้กระทำความผิดในคดีมุ่งร้ายต่อราชวงศ์, เบียดเบียนประชาชนให้ทุกข์ยาก, ให้ที่อยู่อาศัยแก่ผู้ต้องโทษ, ขัดขืนการจับกุม, ออกหมายเท็จ, เปลี่ยนแปลงคำให้การและละเลยการปฏิบัติตามกฎระเบียบซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายต่อระบบราชการจะถูกตัดสินลงโทษด้วยการตัดศีรษะ

ต่อมาในปี พ.ศ. 1978 ได้มีการขยายคดีที่ต้องโทษประหารชีวิตให้มีความครอบคลุมมากยิ่งขึ้น โดยมีการออกพระราชกฤษฎีกาคดีก่อการกบฏหรือ พระอัยการกบฏศึก ภายหลัง ได้มีการระบุวิธีการประหารชีวิตให้มีความชัดเจนมากขึ้น โดยในปี พ.ศ. 2451 ได้มีการระบุในมาตราที่ 13 ของประมวลกฎหมายอาญาว่า การฆ่าตัดศีรษะเป็นวิธีการของการประหารชีวิต

หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 การเปลี่ยนแปลงทางสังคมการเมืองในขณะนั้นส่งผลกระทบต่อโทษประหารชีวิตเช่นกัน ในปี พ.ศ. 2476 พระยาพหลพลพยุหเสนา นายกรัฐมนตรีขณะนั้นได้เสนอต่อคณะรัฐมนตรีให้ยุติโทษประหารชีวิต แต่ได้มีการลงความเห็นว่า ยังไม่ถึงเวลายกเลิกโทษประหารชีวิต แต่ควรเปลี่ยนรูปแบบการประหารชีวิตเป็นวิธีการที่มีความทรมานน้อยกว่าเดิม ในปีเดียวกันนี้ จึงได้มีการแก้ไขมาตรา 13 ของประมวลกฎหมายอาญา โดยเปลี่ยนวิธีการประหารชีวิตจากตัดศีรษะมาเป็นการยิงเป้า

แม้วิธีการประหารชีวิตจะมีความทรมานน้อยลง หากแต่โทษประหารชีวิตของไทยกลับทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้น ในปี พ.ศ. 2499 ได้มีการประกาศใช้ประมวลกฎหมายอาญาฉบับใหม่ ซึ่งระบุโทษประหารชีวิตในหลายกรณี เช่น ความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงของชาติ, ความผิดเกี่ยวกับการปกครองและกระบวนการยุติธรรม, ความปลอดภัยของสาธารณชน, การคุกคามทางเพศ, ชีวิตและความปลอดภัยทางร่างกาย, เสรีภาพและทรัพย์สินส่วนบุคคล, การขู่เข็ญเรียกค่าไถ่, การขู่กรรโชกและการปล้นทรัพย์สิน นอกจากนั้น ยังมีพระราชบัญญัติยาเสพติด พ.ศ. 2522 ซึ่งโทษสูงสุดคือการประหารชีวิตเช่นกัน ปัจจุบัน พระราชบัญญัติยาเสพติดได้มีการแก้ไขเพิ่มเติม เป็น พระราชบัญญัติยาเสพติด พ.ศ. 2544 โดยโทษประหารชีวิตยังคงอยู่ ซึ่งนับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2546 เป็นต้นมาโทษประหารชีวิตส่วนใหญ่มาจากคดียาเสพติด

โทษประหารชีวิตของไทยมีการเปลี่ยนแปลงอีกครั้งในปี พ.ศ. 2546 เมื่อรัฐสภาไทยผ่านกฎหมายห้ามตัดสินลงโทษประหารชีวิตและโทษจำคุกตลอดชีวิตสำหรับผู้เยาว์ นอกจากนี้ ยังได้มีการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา ฉบับที่ 16 พ.ศ. 2546 มาตรา 19 กำหนดให้เปลี่ยนแปลงวิธีการประหารชีวิตจากการยิงเป้าเป็นฉีดยาหรือสารพิษเข้าเส้นเลือดแทน ในปีเดียวกันนั้นมีการประหารชีวิตนักโทษ 4 ราย (ในคดียาเสพติด 3 ราย และคดีฆ่าคนตาย 1 ราย)

แม้จะมีการปรับเปลี่ยนกฎหมายและวิธีการประหารชีวิตในกฎหมายไทย ประเทศไทยยังคงมีจุดยืนในการใช้โทษประหารชีวิต ในปี พ.ศ. 2551 ประเทศไทยออกเสียงคัดค้านมติของสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติที่เรียกร้องให้ทั่วโลกพักการประหารชีวิต และถัดมาในปี พ.ศ. 2552 นักค้ายาเสพติดสองรายถูกตัดสินให้รับโทษประหารชีวิต โดยการฉีดยาเข้าเส้น ซึ่งนับเป็นคดีประหารชีวิตสองรายแรก หลังจากที่ประเทศไทยไม่มีการประหารชีวิตมาเป็นระยะเวลา 6 ปี

อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยเริ่มส่งสัญญาณทางบวก โดยการเปลี่ยนแปลงจุดยืนต่อการพักใช้โทษประหารชีวิตในเวทีระหว่างประเทศ กล่าวคือ ประเทศไทยลงคะแนนงดออกเสียงต่อมติของสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติที่เรียกร้องให้ทั่วโลกพักการประหารชีวิต ในปีพ.ศ. 2553 และ พ.ศ. 2555 และมีการบรรจุวาระการเปลี่ยนแปลงโทษประหารชีวิตเป็นโทษจำคุกตลอดชีวิตลงในแผนแม่บทสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2552 – 2556) และในร่างแผนแม่บทสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ฉบับที่ 3 (2557-2561)

การมีอยู่ของโทษประหารชีวิตตั้งแต่ พ.ศ. 1978 จนถึงปัจจุบัน น่าจะนำไปสู่การทบทวนถึงความจำเป็นและประสิทธิภาพของโทษประหารชีวิตในการต่อสู้กับอาชญากรรมร้ายแรงรวมถึงยาเสพติด และการที่รัฐละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานเสียเอง เช่นเดียวกันกับการพิจารณาถึงความเห็นที่ว่า สังคมไทยสนับสนุนโทษประหารชีวิตซึ่งเป็นความรุนแรงรูปแบบหนึ่งในการแก้ปัญหาความรุนแรงที่เกิดขึ้นหรือไม่